ข้อควรรู้ การทำอัลตราซาวนด์ขณะตั้งครรภ์

article-ข้อควรรู้ การทำอัลตราซาวนด์ขณะตั้งครรภ์

วันพุธที่ 24 เมษายน 2567

พญ.ปนัดดา บรรยงวิจัย

5.00

เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันเจริญก้าวหน้ามาก ทำให้การตรวจวินิจฉัยสุขภาพทารกในครรภ์แม่นยำมากขึ้น ส่วนหนึ่งที่แพทย์นิยมใช้ตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ คือ การทำอัลตราซาวนด์คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการทำอัลตราซาวนด์ ทุกไตรมาส หรืออย่างน้อย 2 ครั้งตลอดการตั้งครรภ์ การทำอัลตราซาวนด์มีข้อควรรู้ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

อัลตราซาวนด์ขณะตั้งครรภ์มีข้อควรรู้ดังนี้

  1. อัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ผ่านทางหน้าท้องและผ่านทางช่องคลอด

  2. การทำอัลตราซาวนด์สามารถทำได้เลยไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร

  3. การทำอัลตราซาวนด์ไม่สร้างความเจ็บปวดให้แก่มารดาและทารกในครรภ์

  4. การทำอัลตราซาวนด์ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ สามารถเก็บภาพนิ่งไว้เป็นที่ระลึกได้

  5. การทำอัลตราซาวนด์ 4 มิติ สามารถเก็บภาพภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นที่ระลึกได้ (บางโรงพยาบาลแบบ 2 และ 3 มิติ เก็บภาพเคลื่อนไหวได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความทันสมัยและรุ่นของเครื่องทำอัลตราซาวนด์ที่โรงพยาบาลนั้นๆใช้อยู่ )

  6. การทำอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้ความแม่นยำสูงกว่าทางหน้าท้อง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าควรเลือกใช้วิธีไหนกับแม่ตั้งครรภ์แต่ละคน

  7. การทำอัลตราซาวนด์ มีหลายชนิด ได้แก่ อัลตราซาวนด์ 2 มิติ 3 มิติ 4 มิติ ให้ความคมชัดแตกต่างกันตามลำดับ

  8. การทำอัลตราซาวนด์นิยมทำหลังอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ เพราะรูปร่างภายนอกของตัวอ่อน โค้งงอแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงไปจนมีลักษณะคล้ายมนุษย์ เมื่ออายุครรภ์ครบ 8 เต็ม

  9. การทำอัลตราซาวนด์เพื่อดูเพศทารก สามารถทำได้ หลัง 12 สัปดาห์ ในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์นี้ จะมีการสร้างเนื้อกระดูก และการพัฒนาของนิ้วมือและนิ้วเท้า ผิวหนัง เล็บและเส้นขน อวัยวะเพศภายนอกเริ่มแยกได้ว่าเป็นชายหรือหญิง แต่อาจยังตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ไม่ชัดเจน

  10. การทำอัลตราซาวนด์เพื่อดูเพศทารก ชัดเจนในช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท่าของทารกในครรภ์และประสบการณ์ของแพทย์แต่ละคน

  11. การทำอัลตราซาวนด์ ไม่ได้ทำเพื่อดูเพศทารกเพียงอย่างเดียวตามที่หลายคนเข้าใจผิด เเพทย์ทำอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์แต่ละไตรมาส

  12. ไตรมาสแรก จะทำการตรวจอัลตราซาวนด์ในช่วงอายุครรภ์ 11 – 13 สัปดาห์ เป็นการตรวจเพื่อยืนยันอายุครรภ์ โดยการวัดความยาวตั้งแต่ศีรษะถึงกระดูกก้นกบ ทำให้ทราบกำหนดวันคลอดที่แน่นอนในมารดาที่จำประจำเดือนไม่ได้

  13. การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสแรก สามารถใช้ตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ได้ โดยการวัดความหนาของต้นคอทารกและดูกระดูกบริเวณดั้งจมูกของทารก ร่วมกับการตรวจสารชีวเคมีในเลือดมารดา ทำให้เพิ่มความแม่นยำในการวินิจจัยทารกกลุ่มอาการดาวน์ได้อีกด้วย

  14. การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 2 จะตรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 18 – 22 สัปดาห์ เพื่อยืนยันอายุครรภ์ในมารดาที่มาฝากครรภ์ช้า และไม่ได้รับการตรวจตั้งแต่ในไตรมาสแรก

  15. การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 2 สามารถตรวจอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง กระดูกสันหลัง หัวใจ ตับ ไต ตรวจดูตำแหน่งรกและปริมาณน้ำคร่ำ

  16. การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 2 สามารถตรวจการไหลเวียนโลหิตของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกซึ่งเชื่อมต่อมายังทารก (ซึ่งหากพบความผิดปกติอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์หรือครรภ์เป็นพิษและภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์)

  17. การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 2 ในมารดามีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน แพทย์จะทำการวัดวัดความยาวของปากมดลูกในช่วงอายุครรภ์นี้ผ่านเครื่องอัลตราซาวนด์ เพื่อทำนายในการที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดซ้ำ เพื่อให้การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด

  18. การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 3 จะทำในช่วงอายุครรภ์ 28 – 32 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์

  19. การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 3 สามารถตรวจดูอัตราการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งโดยปกติภาวะทารกเติบโตช้าจะสามารถตรวจพบได้ในไตรมาสที่ 3 นี้

  20. การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 3 สามารถตรวจการเจริญเติบโตของกระดูกของทารกได้ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยความผิดปกติของกระดูก เช่น คนแคระ กระดูกบางผิดปกติ แขน-ขาสั้น มือหรือเท้าอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น เท้าปุก ได้

  21. การตรวจอัลตราซาวนด์บ่อยๆมีอันตรายหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีอันตราย การทำอัลตราซาวนด์มีค่าใช้จ่ายสูง หากมีกำลังทรัพย์เพียงพอสามารถทำได้บ่อยๆตามต้องการ

  22. การตรวจอัลตราซาวนด์ที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องตรวจ แม่ตั้งครรภ์ต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง (ในกรณีฝากครรภ์ รพ.รัฐบาล) และอาจต้องทำการตรวจเองนอกโรงพยาบาล ตามคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่น

  23. การตรวจอัลตราซาวด์มีความผิดพลาดไหม คำตอบคือ อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้

  24. การวินิจฉัยผิดพลาดของการตรวจอัลตราซาวนด์อวัยวะของทารกไม่ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในท้อง ความผิดปกติจึงอาจเกิดตอนหลังคลอดก็ได้

  25. การวินิจฉัยผิดพลาดของการตรวจอัลตราซาวนด์ อวัยวะบางอย่างมีขนาดเล็กมาก เช่น นิ้วมือนิ้วเท้านิ้ว ถ้าเด็กไม่กางแพทย์อาจมองไม่เห็น หรือกรณีถ้าหัวใจเล็กกว่าครึ่งเซนติเมตร แพทย์อาจมองไม่ชัดเจนได้

  26. การวินิจฉัยผิดพลาดของการตรวจอัลตราซาวนด์ อวัยวะของทารกในครรภ์กับนอกครรภ์ไม่เหมือนกัน การดูผ่านอัลตราซาวนด์เป็นการดูโครงสร้างโดยรวม ไม่ได้ดูการทำงานของอวัยวะนั้นๆ เช่น ถ้าตรวจพบกระเพาะปัสสาวะของทารก ก็แสดงว่าไตมีการทำงานถึงมีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

  27. การวินิจฉัยผิดพลาดของการตรวจอัลตราซาวนด์ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์แต่ละคนด้วย

การทำอัลตราซาวนด์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนกำลังคิดอยู่ วัตถุประสงค์การทำอัลตราซาวนด์แต่ละช่วงอายุครรภ์นั้นแตกต่างกันออกไป หากมีข้อสงสัยเกี่ยวการทำอัลตราซาวนด์ ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว