Dropped Head Syndrome (DHS) หรือ กลุ่มภาวะคอตก เป็นอาการที่พบไม่บ่อย แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคทางระบบประสาทบางชนิด กลุ่มภาวะคอตกนี้มีสาเหตุจากอะไร อาการและแนวทางรักษามีอะไรบ้าง
Dropped Head Syndrome คืออะไร?
Dropped Head Syndrome (DHS) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณคอด้านหลังอ่อนแรงจนไม่สามารถพยุงศีรษะให้อยู่ในท่าตรงได้ ส่งผลให้ศีรษะโน้มลงข้างหน้าโดยไม่สามารถยกกลับได้อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยจะมีลักษณะคล้าย "คอตก" หรือ "เงยหน้าไม่ได้" อาการนี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือเป็นแบบถาวรขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค
อาการของ Dropped Head Syndrome
ผู้ที่มีภาวะคอตกจะมีลักษณะอาการ ดังนี้
-
ลำคอเอียงหรือโน้มมาด้านหน้าอย่างผิดปกติ
-
เมื่อพยายามยกศีรษะขึ้นจะรู้สึกเมื่อยล้า หรือไม่สามารถยกได้เลย
-
ปวดคอหรือหลังส่วนบน
-
รู้สึกไม่สมดุลเวลายืนหรือเดิน
-
อาจมีอาการกลืนลำบาก หรือพูดไม่ชัดร่วมด้วย
อาการเหล่านี้ไม่ควรละเลย หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง
สาเหตุของ Dropped Head Syndrome
ภาวะคอตกสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่:
1. ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและประสาท
-
Myasthenia Gravis (โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง)
-
Motor Neuron Disease เช่น ALS
-
Parkinson’s Disease
-
Cervical Spondylosis (หมอนรองกระดูกคอเสื่อม)
-
Myopathy หรือ ภาวะกล้ามเนื้อเสื่อม
2. สาเหตุจากพฤติกรรมหรือภาวะอื่น
-
การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยไม่มีการขยับคอ
-
อุบัติเหตุหรือกระดูกคอเคลื่อน
-
ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น Dropped Head Syndrome?
-
ผู้สูงอายุ: กล้ามเนื้ออ่อนแรงตามวัย
-
ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท: Parkinson, ALS ฯลฯ
-
ผู้ที่ใช้ท่าทางผิดเป็นเวลานาน: เช่น นั่งทำงานก้มหน้า เล่นมือถือ
-
ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย: ทำให้กล้ามเนื้อคอและหลังอ่อนแรง
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยจาก
-
การตรวจร่างกายและการซักประวัติ
-
การตรวจกล้ามเนื้อและระบบประสาท (EMG)
-
การถ่ายภาพเอกซเรย์ หรือ MRI
-
ตรวจเลือดในบางกรณี เพื่อดูภาวะกล้ามเนื้อเสื่อมหรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ
แนวทางการรักษา
-
กายภาพบำบัด:
-
เน้นการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอและหลัง
-
ตรวจแนวโครงสร้างร่างกายให้อยู่ในแนวปกติ
-
จัดท่าทางการทำงานตามหลักกายรศาสตร์
-
การใส่อุปกรณ์พยุงคอ (neck brace): เพื่อช่วยพยุงศีรษะให้ตั้งตรง
-
การใช้ยา: เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาต้านภูมิคุ้มกันในกรณีที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ตนเอง
-
การผ่าตัด: ในกรณีที่มีการกดทับของเส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูก
วิธีป้องกันภาวะคอตกก่อนเกิดปัญหา
-
ฝึกท่านั่งให้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการก้มหน้าตลอดเวลา
-
พักเบรคจากการทำงานหน้าจอทุก ๆ 30-60 นาที
-
ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อคอ บ่า และหลัง
-
หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เช่น ศีรษะโน้มหน้าแบบไม่ตั้งใจ หรือเมื่อยคอเรื้อรัง
-
ปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติ ไม่ควรซื้ออุปกรณ์พยุงคอมาใช้เองโดยไม่รับคำแนะนำ
สรุป
Dropped Head Syndrome อาจเริ่มจากอาการเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้าม แต่สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่กระทบต่อชีวิตประจำวันได้ หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการคอตกแบบไม่รู้ตัว หรือยกศีรษะไม่ขึ้น ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการดูแลอย่างเหมาะสม