ไอเสียงเห่า หายใจวี้ด เสี่ยงโรคครูป (Croup) ในเด็ก

article-ไอเสียงเห่า หายใจวี้ด เสี่ยงโรคครูป (Croup) ในเด็ก

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2568

5.00

โรคครูปคืออะไร?

โรคครูป (Croup) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะใน กล่องเสียง หลอดลมส่วนต้น และหลอดลมขนาดเล็ก มักพบใน เด็กเล็กช่วงอายุ 6 เดือน – 3 ปี เนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กยังแคบกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเกิดการอักเสบจึงทำให้มีอาการแสดงที่ชัดเจนมากกว่า

สาเหตุหลักเกิดจาก การติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะไวรัสดังต่อไปนี้

  • เชื้อพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) – สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด

  • ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)

  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus)

อาการของโรคครูปที่พ่อแม่ควรสังเกต

เด็กที่ป่วยเป็นโรคครูปมักเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัด และอาการจะรุนแรงขึ้นภายใน 1–2 วัน โดยมีลักษณะเด่นดังนี้

  • ไข้ ไอ น้ำมูก มาก่อนประมาณ 1–2 วัน

  • ไอเสียงแหบ ก้อง คล้ายเสียงเห่าสุนัข

  • เสียงหายใจวี้ด โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า

  • เสียงแหบ พูดไม่ชัด

อาการรุนแรงที่ควรพาเด็กพบแพทย์ทันที:

  • เด็กหายใจลำบาก เหนื่อยหอบ

  • อกบุ๋มหรือบริเวณไหปลาร้าบุ๋มขณะหายใจ

  • ปลายมือปลายเท้าเขียวหรือซีด

  • ไม่ยอมกินนมหรือน้ำ

การวินิจฉัยและการประเมินความรุนแรง

แพทย์จะทำการวัดสัญญาณชีพ ตรวจระดับออกซิเจน และประเมินลักษณะการหายใจ รวมถึงประเมินความรุนแรงของโรคจาก คะแนนครูป (Croup Score) โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ

1. อาการไม่รุนแรง (คะแนน < 4)

  • ให้ยาสเตียรอยด์ทางปากหรือฉีด

  • หากอาการดีขึ้น อาจให้กลับบ้านและนัดติดตามใน 24–48 ชั่วโมง

2. อาการปานกลาง (คะแนน 4–7)

  • ให้ยาพ่นอะดรีนาลีน (Adrenaline) ร่วมกับยาสเตียรอยด์

  • เฝ้าสังเกตอาการที่โรงพยาบาล 2–4 ชั่วโมง

  • หากดีขึ้น อนุญาตให้กลับบ้านพร้อมนัดติดตาม

3. อาการรุนแรง (คะแนน > 7)

  • เด็กต้อง นอนโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังภาวะหายใจล้มเหลว

  • แพทย์จะดูแลอย่างใกล้ชิดและให้การรักษาแบบเข้มข้น

Barking Cough in Kids  It Might Be Croup2

โรคครูปหายได้หรือไม่? กลับมาเป็นซ้ำได้หรือเปล่า?

ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 3–7 วัน และไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะในช่วงอากาศเย็นหรือฤดูฝน ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตอาการต่อเนื่อง และพาเด็กไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ

วิธีป้องกันโรคครูปในเด็ก

  1. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า หรือบ้านบอล

  2. ล้างมือเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังสัมผัสของเล่นหรือพื้นผิวสาธารณะ

  3. ให้เด็กดื่มน้ำนมแม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

  4. ผู้ป่วยในบ้านควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่เชื้อ

  5. พาเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี

สรุป

โรคครูปอาจฟังดูน่ากังวล แต่หากได้รับการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างปลอดภัย

การรู้เท่าทันสัญญาณเตือนและพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่ระยะแรก คือกุญแจสำคัญของการดูแลลูกให้หายจากโรคนี้อย่างรวดเร็ว

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

ศูนย์การแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว