ชวนรู้จัก “โรคปอดบวม” ภาวะเสี่ยงที่ป้องกันได้

article-ชวนรู้จัก “โรคปอดบวม” ภาวะเสี่ยงที่ป้องกันได้

Thursday 04 April 2024

5.00

ชวนรู้จัก “โรคปอดบวม” ภาวะเสี่ยงที่ป้องกันได้

ไอแห้ง หอบ เหนื่อย มีไข้… อย่าวางใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคปอดบวม ภาวะที่ติดต่อได้ง่ายแสนง่ายจากการสูดหายใจนำเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอากาศเข้าปอดโดยตรงขณะที่ร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงส่งเม็ดเลือดขาวจำนวนมากมายับยั้งเชื้อโรคบริเวณปอด เป็นเหตุให้ปอดบวมใหญ่ขึ้น แท้จริงแล้ว โรคปอดบวมมีที่มาที่ไปอย่างไรนั้น มาทำความเข้าใจสาเหตุ อาการ และการป้องกันตัวเองจากโรคนี้ไปด้วยกัน

โรคปอดบวม คืออะไร

โรคปอดบวม, โรคปอดอักเสบ หรือ โรคนิวโมเนีย (pneumonia) เป็นโรคที่มีการอักเสบของปอด ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้ถุงลมปอดเต็มไปด้วยหนองหรือสารคัดหลั่ง ส่งผลให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนลดลง ทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย สามารถพบได้ร้อยละ 8-10 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

โรคปอดบวมมีสาเหตุจากอะไร

  • เชื้อไวรัส เช่น RSV, ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
  • เชื้อแบคทีเรีย เช่น S.pneumoniae, Haemophilus influenza (Hip), Mycoplasma, E.coli เป็นต้น
  • เชื้อรา เช่น Chlamydia เป็นต้น
  • สารเคมี

อาการโรคปอดบวมเป็นอย่างไร

  • ช่วงแรกอาจมีอาการไอแห้งๆ ต่อมาจะมีเสมหะและมักมีเสียงเสมหะในปอด
  • มีไข้สูง ตัวร้อน
  • หายใจหอบ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • อาจมีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณที่ปอดมีการอักเสบได้

การตรวจวินิจฉัยโรคปอดบวม

  • แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ฟังเสียงหายใจ เพื่อประเมินว่ามีเสียงเสมหะหรือสารคัดหลั่งในปอดหรือไม่
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามีหนองหรือสิ่งคัดหลั่งอยู่ในถุงลมปอดหรือไม่
  • ตรวจเลือดดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะพบว่า มีเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะติดเชื้อในร่างกาย
  • ตรวจเพาะเชื้อในเลือด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ และถ้ามีเป็นเชื้อตัวใดเพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง
  • ตรวจเสมหะเพื่อย้อมสีหรือเพาะเชื้อ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปอดอักเสบตามความเหมาะสมโดยแพทย์

โรคปอดบวม รักษาอย่างไร

  • ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้แก้ปวด ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอละลายเสมหะหรือยาพ่นเพื่อทำให้ปอดขยายตัวและทำงานได้ดีขึ้น เป็นต้น
  • ให้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่พบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียตามความเหมาะสมของเชื้อชนิดนั้นๆ
  • ให้ยาต้านเชื้อไวรัสในรายที่เป็นปอดบวมจากเชื้อไข้หวัดใหญ่
  • นอนพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ในรายที่ไข้สูงและอ่อนเพลียมากอาจได้รับสารละลายทางหลอดเลือดดำและนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

การป้องกันโรคปอดบวม

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันเชื้อฮิบ (Hib), วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดีและวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รักษาความสะอาดร่างกาย
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 8-10 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรืออากาศไม่ถ่ายเท หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย

โรคปอดบวมมักพบบ่อยช่วงระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว หรือตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จนถึงเดือนมีนาคม  ในแต่ละปีมักพบว่ามีผู้ป่วยโรคปอดบวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจงโรค เป็นเพียงการรักษาตามอาการด้วยยาลดไข้ ละลายเสมหะ และยาปฏิชีวนะ ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และเสริมภูมิคุ้มกันก่อนการติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนจึง เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเสมือนการสร้างปราการป้องกันให้กับร่างกาย

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

Better health

Related services

บทความที่เกี่ยวข้อง

This website uses cookies

We use cookies to enhance efficiency and provide a good experience on our website. You can manage your cookie preferences by clicking "Cookie Settings" in the privacy policy