5 วิธีรักษาโรคมะเร็งปอด ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษา

article-5 วิธีรักษาโรคมะเร็งปอด ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษา

Thursday 25 April 2024

5.00

มะเร็งปอด ถือเป็นภัยเงียบที่ไร้ซึ่งสัญญาณเตือน ด้วยเพราะไม่มีอาการแสดงใดๆ ของโรคให้สังเกตเห็น กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวโรคก็ดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะอันตราย การรักษาโรคมะเร็งปอดได้เร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน เพราะไม่เพียงหยุดการลุกลามเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้หายจากโรคได้ 

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักภาพรวมของโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค ชนิด อาการของโรคมะเร็งปอด การตรวจวินิจฉัยไปจนถึงการรักษาโรคมะเร็งปอด

คุณรู้จัก “โรคมะเร็งปอด” ดีแค่ไหน ? 

มะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลก และมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็ง (โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง) มีอัตราส่วนระหว่างการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 0.87 สำหรับในประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และเป็นอันดับต้นๆ รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในเพศหญิง

มะเร็งปอดมีอยู่ 2 ชนิด

  1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) พบประมาณ 15%
  2. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer, NSCIC) พบได้ 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมดโดยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก

ปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งปอด

  • การสูบบุหรี่
  • มลภาวะทางอากาศ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควัน
  • บุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด
  • การสัมผัสกับก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่เป็นก๊าซเฉื่อย สามารถพบได้ทั่วไปในอากาศ อาจพบสะสมในตัวอาคารบ้านเรือน การสัมผัสก๊าซนี้เป็นสาเหตุหลักในการก่อโรคมะเร็งปอดในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่
  • ผู้มีอายุมากกว่า 40 ปี
  • การสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น การหายใจเอาแร่ใยหินหรือควันจากท่อไอเสียเข้าสู่ร่างกาย การหายใจหรือบริโภคสารเคมีบางชนิด (อาเซนิค ถ่านหิน) หรือการสัมผัสสารยูเรเนียม
  • การรักษาด้วยการฉายแสงที่ทรวงอก เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม

อาการแสดงเบื้องต้นของโรคมะเร็งปอด

อาการของโรคมะเร็งปอดอาจถูกเข้าใจผิดกับบางโรคหรือบางภาวะได้ เช่น การติดเชื้อ หรือเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานได้ โดยส่วนมากมักจะเกิดเมื่อโรคดำเนินไปถึงระยะลุกลามแล้ว ซึ่งอาการต้องสงสัยที่พบบ่อยคือ

  • ไอเรื้อรัง
  • ไอมีเสมหะปนเลือด
  • เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจได้สั้นๆ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด 

นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว แพทย์ต้องทำการตรวจทางพยาธิวิทยา (Pathology) ร่วมด้วย รวมถึงการตรวจเพิ่มเติมตามข้อบ่งชี้เพื่อประเมินระยะของโรค เพื่อพิจารณาการรักษาโรคมะเร็งปอดที่เหมาะสมกับสภาวะของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย สามารถทำได้ดังนี้

1. การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (biopsy)
• การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (fine-needle aspiration)
• การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (bronchoscopy)
• การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก (thoracentesis)
• การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (mediastinoscopy)
• การตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (thorocoscopy)

2. การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี
• การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI): เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
• การตรวจด้วยเครื่อง PET scan (positron emission tomography scan): เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง

5 วิธีรักษาโรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอดมีวิธีรักษาอย่างไร ? เป็นหนึ่งคำถามที่ผู้ป่วยทุกคนอยากรู้คำตอบ ซึ่งปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งปอดนั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 วิธี แบ่งตามการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและระยะของโรคได้ดังนี้

1. การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งปอดในระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย หรือกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโดยยังไม่ลุกลามไปที่อวัยวะสำคัญ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้
2. การฉายรังสีรักษา เป็นการรักษาเฉพาะที่ซึ่งมีรายละเอียดข้อบ่งชี้ในการรักษาผู้ป่วยดังนี้

  • ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะแรกที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
  • ผู้ป่วยระยะลุกลามเฉพาะที่ ในกรณีที่มีการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง ทำให้แพทย์ไม่สามารถทำการผ่าตัดรักษาได้
  • เป็นการรักษาโรคมะเร็งปอดแบบประคับประคองในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะลุกลาม
  • เป็นการรักษาเพื่อป้องกันการกระจายของเซลล์มะเร็ง 

3. ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยการให้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งด้วยการฉีด ข้อดีคือยาเคมีบำบัดนั้นสามารถเข้าไปทุกส่วนของร่างกาย หากแต่มีข้อเสียในเรื่องผลข้างเคียงที่อาจได้รับจากยาค่อนข้างมาก เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เบื่ออาหาร เป็นแผลที่เยื่อบุในปาก ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและมีอาการรุนแรงกว่าปกติ 

4. ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า เป็นการรักษาโรคมะเร็งปอดกลุ่มใหม่ที่มุ่งทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) หรือมะเร็งที่เป็นเป้าหมายเฉพาะของยา มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพดีกว่ายาเคมีบำบัด โดยมากเป็นยาในรูปแบบเม็ดรับประทาน

5. ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การรักษาโรคมะเร็งปอดแบบใหม่ล่าสุด เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของตัวเอง โดยเป็นยาในรูปแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ สามารถใช้เพียงชนิดเดียว หรือใช้ร่วมกับยาตัวอื่นๆ เช่น ยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินและพิจารณาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน

การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปอด

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ จากการศึกษาที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับสาเหตุและความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดในประเทศต่างๆ นั้นประเมินว่า 81% ของมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่
แม้จะไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งปอด แต่เราสามารถลดความเสี่ยงและห่างไกลจากโรคได้ด้วยการเลิกสูบบุหรี่ เลี่ยงการรับควันบุหรี่มือสองและการสัมผัสสารก่อมะเร็งต่างๆ ร่วมกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และเสริมเกราะป้องกันด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรตรวจหาความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ  

ติดต่อเพื่อพูดคุยกับเราเกี่ยวกับการรักษา
หากท่านมีคำถามเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายเข้ารับบริการ สามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทางด้านล่าง
โรงพยาบาลตั้งอยู่ที่ ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
02 033 2900 ต่อ ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์
website : https://www.chgcancercenter.com
FanPage : fb.com/CHGCancerCenter
Line : @CHGCancerCenter 

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

Better health

Related services

Related articles

This website uses cookies

We use cookies to enhance efficiency and provide a good experience on our website. You can manage your cookie preferences by clicking "Cookie Settings" in the privacy policy