อาหารผู้ป่วยมะเร็ง เลือกอย่างไรให้ได้โภชนาการครบครัน
อาหารและโภชนาการที่ดีมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อสู้กับโรคร้ายได้อยู่หมัด และฟื้นฟูร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังเข้ารับการรักษาโดยเคมีบำบัด เซลล์มะเร็งจะสร้างสารเคมีบางอย่างที่ทำให้การเผาผลาญอาหารหมดไปอย่างรวดเร็ว ร่างกายของผู้ป่วยจึงต้องการพลังงานมากขึ้นเพื่อใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากกลับรับประทานอาหารได้น้อยลงจากการเบื่ออาหาร รวมถึงความเข้าใจผิดไปว่าอาหารบางประเภทเป็นของแสลงต่อโรคมะเร็งจนกลายเป็นภาวะขาดสารอาหารไปในที่สุด มาดูกันว่าอาหารผู้ป่วยมะเร็งควรมีโภชนาการอะไรบ้าง และอาหารประเภทไหนที่ไม่ควรเฉียดเข้าใกล้ หรือรับประทาน!
โภชนาการผู้ป่วยมะเร็งที่ควรได้รับต่อวัน
- ควรได้รับพลังงานเพียงพอ 1,600 - 2,000 กิโลแคลอรี่ ต่อวัน จากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน โดยมีการกระจายสัดส่วนที่เหมาะสม ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ผอมเกินไป
- ควรได้รับโปรตีนสูง ผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทานโปรตีนทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ เพื่อให้ได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นอย่างครบถ้วน เน้นรับประทานเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และไข่ ให้ได้ปริมาณเพียงพออยู่เสมอ
Tip ล้อมกรอบ>> อาหารผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ควรรับประทาน
งดการรับประทานเนื้อแดง และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปจำพวก ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง แหนมเพราะมีการวิจัยแล้วว่ามีส่วนกระตุ้นการทำงานของเซลล์มะเร็ง รวมถึงงดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายมากมาย
การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากยา
- เบื่ออาหาร : รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ แบ่งทาน 4-6 มื้อต่อวัน เสริมพลังงานและมีโปรตีนสูง เช่น นม หรืออาหารทางการแพทย์
- คลื่นไส้ อาเจียน : หลีกเลี่ยงอาหารหวานมัน มีกลิ่นฉุนหรือรสเผ็ดร้อน ดื่มน้ำขิง, น้ำมะนาว, น้ำผลไม้เย็นๆ หรือไอศกรีม
- ท้องเสีย : ลดอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ
- มีแผลในช่องปาก : รับประทานอาหารอ่อนนิ่ม รสไม่จัด รับประทานอาหารเย็น ไม่ร้อนจัด และจิบน้ำเปล่าให้บ่อยขึ้น
- เม็ดเลือดขาวต่ำ : ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ระวังผักผลไม้ที่ทานทั้งเปลือก มีรอยช้ำ มีเชื้อรา
รับประทานอาหารหลากหลาย ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด และปลอดภัย
5 เมนูอาหารผู้ป่วยมะเร็ง
เน้นเสริมสร้างภาวะโภชนาการที่ดี เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และกระตุ้นความอยากอาหารให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งด้วย 5 เมนูอาหารผู้ป่วยมะเร็ง ดังนี้
1. แกงเลียง แกงส้ม แกงเหลือง แกงป่า : อาหารไทยๆ ที่ประกอบไปด้วยผักหลากหลายและสมุนไพรนานาชนิด แกงไทยทั้ง 4 จึงจัดเป็นซูเปอร์เมนูที่ให้ไฟเบอร์สูง ช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกขับถ่ายได้ดีขึ้น รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีส่วนช่วยในการกำจัดมะเร็งสูง กลิ่นหอมกรุ่นๆ ของเครื่องเทศและความลงตัวของพริกไทย เป็นตัวช่วยกระตุ้นต่อมรับรสให้ผู้ป่วยอยากอาหารได้เป็นอย่างดี
2. โยเกิร์ต : มีจุลินทรีย์พรีโพรไบโอติกที่ช่วยปรับสมดุลลำไส้ ดีต่อระบบขับถ่าย สร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบทางเดินอาหารแข็งแรง แล้วยังช่วยตรวจจับสารโลหะหนักและสารก่อมะเร็งอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกาย ด้วยรสสัมผัสอ่อนนุ่มของโยเกิร์ตจึงช่วยให้ผู้ป่วยกลืนได้ง่าย แม้จะมีบาดแผลในช่องปากและคอจากการทำเคมีบำบัด แถมยังสามารถปรับรสชาติให้ถูกใจด้วยการเติมผลไม้ และธัญพืชที่ชอบเข้าไปได้อย่างหลากหลาย
3. สลัดผักสดผลไม้สด : อาหารผู้ป่วยมะเร็งที่เน้นกากใยอาหาร เพิ่มวิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารดีๆ ให้ผู้ป่วยแบบจัดเต็ม แนะนำให้หั่นผลไม้สดชิ้นพอดีคำ เช่น แคนตาลูป ฝรั่ง มะละกอ และเพิ่มคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวโอ๊ต ควินัว และข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น
4. ปลานึ่งเต้าหู้ไข่ : โปรตีนเป็นอีกส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่สูญเสียไประกว่างการรักษาโดยเคมีบำบัด การผ่าตัด และการฉายแสง ผู้ป่วยมะเร็งจึงต้องการสารอาหารจำพวกโปรตีนมากกว่าคนปกติ แนะนำให้เป็นเมนูจำพวกปลานึ่ง เต้าหู้ไข่ ที่มีเนื้อสัมผัสอ่อน ย่อยง่าย เน้นปรุงรสให้น้อย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากน้ำตาล ไขมัน อย่างโรคเบาหวานและไขมันในเลือด ที่อาจกระทบกับการรักษาโรคมะเร็งได้
5. นมสดและซุปต่างๆ : ควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 1-2 แก้ว หากมีภาวะเบื่ออาหารร่วมด้วย อาจแบ่งออกเป็นมื้อย่อยๆ แต่บ่อยครั้ง หรือปรุงเป็นซุปที่มีส่วนประกอบของนมให้ซดได้คล่องคอ เช่น ซุปข้าวโพด ซุปเห็ด หรือทำเป็นสมูตตี้นมสด เป็นต้น เน้นให้ดื่มง่ายได้ปริมาณมาก เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ควรพลาด
กายป่วยแล้ว อย่าเผลอปล่อยให้ใจป่วยตาม เพราะอาการเบื่ออาหารเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่เผชิญโดยปกติ หลังการรักษาสิ้นสุดอาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไป ความอยากอาหารของผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติ หลักสำคัญคือต้องให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายมีแรงฮึดสู้และเอาชนะโรคมะเร็งไปให้ได้ หากอาการข้างเคียงหลังการรักษายังไม่หายไปควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาหรือกินอาหารทางการแพทย์เพิ่มเติม