ช้าหรือเร็วก็อันตรายกว่าที่คิด! ถ้า “หัวใจเต้นผิดปกติ”

article-ช้าหรือเร็วก็อันตรายกว่าที่คิด! ถ้า “หัวใจเต้นผิดปกติ”

Tuesday 23 April 2024

Dr. Yuthachai Matrakul

5.00

หัวใจของคุณกำลังมีปัญหาอยู่หรือเปล่า? เมื่อต้องเผชิญกับอาการของหัวใจที่เต้นไม่เป็นจังหวะ ไม่ว่าจะเต้นเร็ว เต้นช้า เต้นๆ หยุดๆ หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อชีวิตทั้งสิ้น เพราะสามารถบ่งชี้ได้ว่านี่คือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลตามมาคือผู้ป่วยที่มีอาการเป็นๆ หายๆ ยังคงใช้ชีวิตปกติ ไม่คิดว่าอันตราย มารู้จักสาเหตุและอาการสังเกตเพื่อเฝ้าระวัง รวมถึงการตรวจวินิจฉัยและแนวทางการรักษาก่อนสายเกินแก้   

รู้จักภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)

Cardiac arrhythmia คือ ภาวะที่มีการก่อกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ หรือมีการนำสัญญาณไฟฟ้าภายในห้องหัวใจผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว เต้นช้าหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ

เช็ก Cardiac arrhythmia หรืออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างไร

  1. ใจสั่น ใจเต้นแรง ใจเต้นเร็ว
  2. เหนื่อยง่าย หายใจหอบ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก
  3. เจ็บหน้าอก
  4. หน้ามืด ตาลาย วูบ เป็นลมหมดสติ
  5. หัวใจหยุดเต้นหรือตรวจพบโดยบังเอิญ
  6. ไม่มีอาการหรือตรวจพบโดยบังเอิญ

หมายเหตุ : 

  • อาการที่พบในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือเป็นๆ หายๆ ได้ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น น้อยกว่า 10 วินาทีก็ได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แน่ใจในอาการที่รู้สึก หรืออาการแต่ละครั้งแตกต่างกันออกไป ถ้าสงสัยว่าอาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรรีบปรึกษาแพทย์

หัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ประเภท

หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) คือ การที่อัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรมากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก ซึ่งพบได้หลายชนิด ได้แก่ Supraventricular tachycardia (SVT), Ventricular tachycardia (VT), Ventricular fibrillation (VF)
  2. ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) คือ การที่อัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาทีในขณะตื่น ซึ่งพบได้หลายชนิดเช่นกัน ได้แก่ Atrioventricular block (AV block), Sinus node dysfunction หรือ Sick sinus syndrome (SSS)
  3. ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ (Irregular cardiac rhythm) พบได้หลายชนิด ได้แก่ Premature ventricular contraction (PVC), Atrial fibrillation (AF)

ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหลายชนิดเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งหัวใจเต้นผิดปกติแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดอาการหรือความรู้สึกที่เหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้การติดตามอาการ การตรวจเพิ่มเติมและการตรวจประเมินผลการรักษาเป็นระยะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

  1. ภาวะที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น Wolff-Parkinson-White syndrome (WPW syndrome), Brugada syndrome หรือที่เรารู้จักกันในชื่อโรคไหลตาย
  2. ภาวะที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ได้แก่
  • เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เช่น โพเเทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม
  • ระดับฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ
  • ความผิดปกติของระดับก๊าซในเลือด หรือความผิดปกติของระดับความเป็นกรดด่างของเลือด เช่น ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำหรือเลือดเป็นกรด
  • อุณหภูมิในร่างกายผิดปกติ เช่น มีไข้หรือติดเชื้อ
  • ระดับความดันในหลอดเลือดผิดปกติ เช่น ความดันสูง ความดันต่ำดำหรือภาวะช็อกค
  • เหล้า สุรา สารเสพติด สารพิษหรือยาบางชนิด
  • อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย กระแสไฟฟ้าหรือกัมมันตภาพรังสี โดยเฉพาะบริเวณทรวงอก
  • พบร่วมกับโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผนังหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงของหัวใจตีบตัน ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ กล้ามเนื้อหัวใจหนาแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ โรคเยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติหรือมีภาวะอักเสบติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจ
  • การเสื่อมชราหรือการลดการทำงานของเซลล์หัวใจ

ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีสาเหตุของโรค ปัจจัยกระตุ้น โรคร่วมที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ควรได้รับการสืบค้น ติดตามและแก้ไขระหว่างเข้ารับการตรวจรักษาด้วย

การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การตรวจหรือวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติสามารถทำได้หลายวิธี แต่โอกาสที่จะตรวจพบในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันได้ เนื่องจากตัวโรคอาจมีความถี่ในการเกิดน้อย เช่น เป็นโรคที่มีอาการไม่บ่อย หรือช่วงเวลาที่เกิดไม่ชัดเจน หรือเป็นโรคที่ไม่มีปัจจัยการเกิดหรือไม่มีตัวกระตุ้นที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจมีผลทำให้ตรวจไม่พบความผิดปกติ อาจมีการตรวจซ้ำหลายครั้งหรือต้องตรวจหลายวิธี เป็นต้น โดยการตรวจที่ใช้บ่อยๆ ได้แก่

1) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography หรือ ECG) เป็นการตรวจที่มีประโยชน์มาก เพราะสามารถตรวจในระหว่างที่มีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ อีกทั้งสามารถให้ข้อมูลทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate) หรือจังหวะการเต้นของหัวใจ (Cardiac rhythm) โดยสามารถทำการตรวจได้หลายวิธี ดังนี้

  • 12-lead ECG:ใช้เวลาในการตรวจสั้น สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลทั่วไปและราคาไม่แพง
  • EKG monitoring: เป็นการตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล
  • 24-hours Holter ECG: เป็นเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา โดยเครื่องจะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้ตลอดเวลา ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรได้ตามปกติ สามารถนำกลับบ้านได้และนำเครื่องมาคืนเพื่ออ่านผลหลังครบกำหนดเวลาที่บันทึกแล้ว
  • Event recorder: เป็นอุปกรณ์พกพาเพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยขณะที่เกิดอาการผิดปกติผู้ป่วยจะต้องทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตามคำแนะนำ และนำเครื่องมาคืนเพื่อรับการอ่านผล
  • Implantable loop recorder (ILD): เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำการติดตั้งไว้ ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางประเภท เช่น หมดสติหรือเป็นลมซ้ำซาก อาการเกิดไม่บ่อยหรือไม่สามารถหาสาเหตุของอาการได้ชัดเจน

2) การตรวจนับชีพจร(Pulse) เป็นการตรวจที่ไม่ยากและสามารถทำได้ตลอดเวลา โดยจะให้ข้อมูลเบื้องต้น เช่น อัตราเร็วของชีพจร(ครั้งต่อนาที) ลักษณะชีพจร เช่น สม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอ โดยสามารถทำการตรวจได้หลายวิธี เช่น

  • คลำและนับชีพจรบริเวณข้อมือหรือบริเวณคอ
  • ตรวจวัดจากเครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอล (Digital sphygmomanometer)
  • ตรวจวัดจากเครื่องวัดปริมาณออกซิเจน (Pulse oximeter)
  • ตรวจด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น นาฬิกาดิจิตอล โทรศัพท์ชนิดสมาร์ทโฟน

3) การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology study หรือ EP study) เป็นการตรวจเพื่อใช้ในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ช่วยในการประเมินความเสี่ยงของโรคหรือประเมินผลการรักษา โดยในขั้นตอนการตรวจนั้นจะมีการใส่สายวัดสัญญาณไฟฟ้าหัวใจจำนวน 3-4 เส้น ผ่านทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบหรือที่คอเพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจห้องบน ห้องล่าง หลอดเลือดดำโคโรนารี่(Coronary sinus) และบริเวณ AV node 

โดยระหว่างทำการตรวจจะมีการตรวจกระตุ้นเพื่อวัดความสามารถในการกำเนิดไฟฟ้า การนำไฟฟ้า การส่งต่อสัญญาณไฟฟ้าและการกำเนิดของสัญญาณการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ โดยภายหลังการตรวจวิเคราะห์จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นเร็วก็สามารถทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจ(Radiofrequency catheter ablation RFCA) เพื่อรักษาให้หายขาดได้

ทั้งนี้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและไม่พบความผิดปกติใดๆ ในขณะที่ผู้ป่วยหายจากอาการใจสั่นแล้ว อาจไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นกับชนิดของโรค ความรุนแรง สาเหตุการเกิด ปัจจัยกระตุ้น อาชีพและกิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย โดยสามารถแบ่งได้เป็น

  1. การรักษาหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) เช่น รักษาด้วยยา ลดปัจจัยกระตุ้นการกำเริบของโรค จี้ไฟฟ้าหัวใจ ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automatic implantable cardioverter-defibrillator; AICD)
  2. การรักษาหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) เช่น หยุดหรือลดปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดโรค ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
  3. การรักษาหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ (Irregular cardiac rhythm) เช่น รักษาด้วยยา จี้ไฟฟ้าหัวใจ

ทั้งนี้ การรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีแนวทางหรือทางเลือกการรักษาได้หลายวิธี ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเพื่อสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง โดยได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจโดยเฉพาะ

เพราะหัวใจของเรามีเพียงดวงเดียว จึงควรเฝ้าระวังอาการผิดปกติและดูแลรักษาเป็นอย่างดี หากมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แม้จะมีอาการเป็นช่วงๆ เป็นๆ หายๆ เล็กน้อยแค่ไหนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด อย่าปล่อยให้ระดับความรุนแรงของโรคก้าวกระโดดไปไกล เพราะสุดท้ายอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

Better health

Related services

บทความที่เกี่ยวข้อง

This website uses cookies

We use cookies to enhance efficiency and provide a good experience on our website. You can manage your cookie preferences by clicking "Cookie Settings" in the privacy policy