นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากความผิดปกติขององค์ประกอบในน้ำดีร่วมกับการบีบตัวลดลงของถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีตกตะกอนและเกิดเป็นเม็ดนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อเม็ดนิ่วหลุดออกจากถุงน้ำดีมาอุดบริเวณท่อของถุงน้ำดีทำให้ถุงน้ำดีบวมตึงและอักเสบติดเชื้อ เกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่
- ผู้ที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่อ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง
- ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเพศ ทานยาคุม
- ผู้ที่ทานยาลดกรดในกระเพาะเป็นประจำ
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่เป็นโรคเลือดบางชนิด เช่น ธาลัสซีเมีย
อาการนิ่วในถุงน้ำดี ที่ยังไม่มีอาการอักเสบ
- ปวดจุกแน่นลิ้นปี่ และใต้ชายโครงขวาเป็นครั้งคราว เป็นเวลานาน ครั้งละ 1-3 ชั่วโมง
- อาการปวดจุกแน่นท้อง มักเป็นมากขึ้นหลังทานอาหารมัน เช่น ของทอด กะทิ
- อาการคลื่นไส้ อาเจียน
อาการถุงน้ำดีอักเสบ
- ปวดใต้ชายโครงขวาร้าวไปหลังอย่างรุนแรง และไม่ทุเลาเป็นวัน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้
- ถ้านิ่วหลุดมาอุดตันทางเดินน้ำดี จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
การวินิจฉัย
- ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด
- การทำอัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนบน พบนิ่่วในถุงน้ำดี ผนังถุงน้ำดีบวมหนา
การรักษา คือ การผ่าตัดถุงน้ำดีพร้อมนิ่วออก โดยมี 2 วิธี
- ผ่าตัดแบบเปิด: แผลอยู่บริเวณใต้ชายโครงขวา ยาวประมาณ 5-7 ซม. แล้วแต่รูปร่างของผู้ป่วย, พักฟื้นประมาณ 1 เดือน
- ผ่าตัดแบบส่องกล้อง: แผลขนาด 1 ซม. 3 แผล บริเวณสะดือ ใต้ชายโครงขวาและใต้ลิ้นปี่ พักฟื้นประมาณ 10 วัน และปวดแผลน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก
หลังผ่าตัดจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้องนั้น มักจะไม่เกิดผลแทรกซ้อน แต่อาจเกิดอาการ อย่างเช่น ปวดหน่วงๆหรือปวดเมื่อยหลังจากการผ่าตัด ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด โดยหลังผ่าตัดผ่านกล้องผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ลุกเดินบ่อยๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพังผืดในช่องท้อง ไม่ควรยกของหนักหรือทำงานหนัก หากพบอาการผิดปกติควรกลับมาพบแพทย์ทันที