รู้ทัน! ริดสีดวงทวาร จับสังเกตอาการ การรักษาและวิธีป้องกัน

article-รู้ทัน! ริดสีดวงทวาร จับสังเกตอาการ การรักษาและวิธีป้องกัน

วันอังคารที่ 23 เมษายน 2567

5.00

หนึ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายและเชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็น นั่นก็คือ “ริดสีดวงทวาร” ที่ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดทรมาน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราเท่านั้น แต่ยังทำให้หลายคนรู้สึกอาย สูญเสียความมั่นใจ กว่าจะตัดสินใจไปหาหมอโรคก็อาจลุกลามไปไกล... มาจับสังเกตอาการของริดสีดวงทวารไว้คอยตรวจเช็กตัวเอง รู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นทั้งสาเหตุการเกิด แนวทางการรักษา รวมถึงวิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากริดสีดวง!

ริดสีดวงทวาร คืออะไร

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีการโป่งพอง บวมและยื่นออกมา ซึ่งสามารถเป็นพร้อมกันได้หลายตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือริดสีดวงภายในและภายนอก

1. ริดสีดวงทวารหนักภายใน (Internal Hemorrhoid) คือ ริดสีดวงที่อยู่ในตำแหน่งเหนือทวารหนักขึ้นไป โดยหลอดเลือดที่โป่งพองอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและไม่สามารถคลำได้ หรืออาจมีขนาดใหญ่และสามารถคลำได้ หรือมีขนาดใหญ่จนต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนักภายหลังการอุจจาระ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน คือ

ระยะที่ 1 มีหัวริดสีดวง แต่ไม่ยื่นออกมาทางทวารหนัก อาจมีเลือดสดๆ ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ

ระยะที่ 2 ริดสีดวงโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย และเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนักได้เองหลังถ่ายอุจจาระ

ระยะที่ 3 ริดสีดวงยื่นโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย และต้องใช้มือดันกลับเข้าไปในทวารหนัก

ระยะที่ 4 ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลาจนอาจทำให้รู้สึกปวด

อาการของริดสีดวงทวารภายใน เบื้องต้นมักมองไม่เห็นหรือไม่ทำให้เจ็บ แต่หากต้องเบ่งอุจจาระอาจมีอาการดังนี้

  • มีเลือดสดออกทางทวารหนักแต่ไม่เจ็บ อาจมีเลือดหยดลงในโถสุขภัณฑ์หรือบนกระดาษทิชชู
  • หากมีก้อนยื่นออกนอกทวารจะรู้สึกเจ็บและระคายเคือง

2. ริดสีดวงทวารหนักภายนอก (External Hemorrhoid) จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ หากมีอาการอาจเกิดความเจ็บปวดได้เพราะผิวหนังที่ปกคลุมมีปลายประสาทรับความรู้สึก

อาการของริดสีดวงทวารภายนอก 

  • มีเลือดออก
  • ผิวรอบทวารบวม
  • ไม่สบายตัว เจ็บปวด
  • ระคายเคือง คันบริเวณทวารหนัก

นอกจากนี้ หากเป็นโรคริดสีดวงทวารแบบมีลิ่มเลือด มักมีอาการบวม ปวดรุนแรง อักเสบ มีก้อนบวมและมีไตแข็งรอบทวารหนัก 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

  • โลหิตจาง (Anemia) มีภาวะซีด
  • ริดสีดวงทวารอักเสบที่มีภาวะขาดเลือดร่วมด้วย
  • ลิ่มเลือด

สาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร

สำหรับสาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบใน

  • ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนนานๆ มีผลทำให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำช่องท้องช้าลง ส่งผลให้เกิดการคั่งและโป่งพองบริเวณปากรูทวารหนัก
  • เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคตับแข็ง ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ จะไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้อง เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม : พบว่า ยีน FOXC2 gene บนโครโมโซมคู่ที่ 16 อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคและเส้นเลือดขอดที่ขา

ความเสี่ยงในการเกิดริดสีดวงทวาร

เมื่อแรงดันในทวารหนักสูงขึ้น เส้นเลือดรอบทวารหนักจะคั่งเลือดและยืดขยายโตขึ้น ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งแรงดันในทวารหนักจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีปัจจัยร่วมดังนี้

  1. ท้องผูกเรื้อรัง
  2. ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ 
  3. นั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน
  4. เบ่งแรงขณะขับถ่าย 
  5. การตั้งครรภ์ ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่สะดวก 
  6. โรคตับแข็ง ส่งผลถึงเส้นเลือดดำบริเวณทวารโป่งพอง 
  7. ใช้ยาระบาย ยาสวนอุจจาระบ่อยโดยไม่จำเป็น
  8. อายุมาก กล้ามเนื้อหย่อนยาน
  9. ไอเรื้อรัง
  10. โรคอ้วน (Obesity) มีภาวะน้ำหนักเกิน
  11. ยกและหิ้วของหนักเป็นประจำ
  12. กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
  13. มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  14. ไม่รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง

การตรวจวินิจฉัย ริดสีดวงทวาร ทำได้อย่างไร

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางทวารหนัก โดยการสอดนิ้วผ่านรูทวารเพื่อคลำหาก้อนเนื้อในลำไส้ตรง
  • การส่องกล้องตรวจทวารหนักและลำไส้ตรง เป็นการตรวจด้วยการส่องกล้อง โดยใช้กล้องชนิดต่าง ๆ เช่น anoscope, proctoscope หรือ sigmoidoscopy เพื่อตรวจส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ซึ่งคลำไม่ถึง หรือไม่พบจากการตรวจด้วยนิ้วทางทวารหนัก

แนวทางการรักษาริดสีดวงทวาร 

ริดสีดวงทวารมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ดังนี้

  1. การใช้ยาเหน็บทวาร ครีมทาทวาร (ถ้าซื้อใช้เองไม่ควรใช้นานเกิน 1 สัปดาห์) และรับประทานยาระบายเพื่อลดการอักเสบและการระคายเคือง
  2. การฉีดยาที่หัวริดสีดวงทวารเพื่อให้หัวริดสีดวงยุบลง
  3. การใช้ยางรัด (rubber band ligation) เพื่อให้หัวริดสีดวงหลุดออก และพังผืดที่เกิดจากแผลจะรั้งริดสีดวงที่เหลือให้หดกลับเข้าไปในทวารหนัก
  4. การจี้ริดสีดวงทวารด้วยอินฟราเรด (infrared photocoagulation) เพื่อให้ริดสีดวงยุบลงและหยุดเลือดออก 
  5. การจี้ริดสีดวงทวารด้วย bipolar coagulation เพื่อให้ริดสีดวงยุบลง และหยุดเลือดออกเช่นเดียวกับการจี้ด้วยอินฟราเรด
  6. การผ่าตัดริดสีดวงทวารเพื่อตัด หรือเย็บ หรือผูกหัวริดสีดวงที่มีอาการ

การรักษาริดสีดวงด้วยเลเซอร์ (Laser Hemorrhoidoplasty)

เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาที่ได้ผลดีและได้รับความนิยมแพร่หลาย เหมาะกับริดสีดวงทวารที่มีเลือดออก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระผิดปกติ รวมถึงผู้ป่วยที่ไวต่อความรู้สึกเจ็บปวด และไม่อยากทนกับอาการปวดแผลหลังจากผ่าตัดริดสีดวงทวาร

โดยแพทย์จะใช้เลเซอร์จี้ไปที่บริเวณหลอดเลือดที่มาเลี้ยงริดสีดวงทวาร ทำให้ริดสีดวงที่มีขนาดใหญ่ฝ่อ เล็กลง และยุบลงไปโดยไม่กระทบกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก มีผลข้างเคียงในการรักษาน้อยกว่าการผ่าตัด เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำภายหลังสูงกว่าการผ่าตัดเล็กน้อย

วิธีการป้องกันริดสีดวงทวาร 

  1. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น รำข้าว ข้าวซ้อมมือ งาดำ ผักและผลไม้ทุกชนิด
  2. ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว การดื่มน้ำแก้วใหญ่ทันทีหลังตื่นนอนตอนเช้าจะช่วยในการขับถ่ายได้
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารรสจัด อาหารที่ไม่สุกสะอาด
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์
  5. หลีกเลี่ยงการกลั้นหรือเบ่งถ่ายอุจจาระ และควรฝึกหัดการขับถ่ายให้เป็นเวลา
  6. ทำความสะอาดบริเวณทวารหนักภายหลังการขับถ่ายด้วยน้ำ เพื่อความสะอาดและลดการระคายเคือง
  7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายอย่างรุนแรง หรือการสวนถ่ายอุจจาระเป็นประจำจนเป็นนิสัย
  8. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  9. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น
  10. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  11. หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลายอยู่เสมอ

แม้ริดสีดวงจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็สร้างความเจ็บปวด บั่นทอนความสุขและคุณภาพชีวิตทั้งกายใจ และกลับมาเป็นซ้ำได้หากยังคงผูกติดกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดและช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ คือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าเป็นริดสีดวงทวาร ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรคลุกลามไปถึงภาวะรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัด 

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว