ฟอกเลือด ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

article-ฟอกเลือด ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567

5.00

การฟอกเลือด คือ

กระบวนการนำเลือดออกจากร่างกายมาทำให้สะอาดขึ้นโดยผ่านเครื่องไตเทียมเพื่อกำจัดของเสีย ปรับระดับเกลือแร่ในเลือด และปรับสมดุลของน้ำในร่างกายให้เป็นปกติในผู้ป่วยโรคไตวายทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการฟอกเลือด

ใครควรได้รับการฟอกเลือด?

  • ผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเฉียบพลัน อาจได้รับการฟอกเลือดเพียงไม่กี่ครั้ง เมื่อไตกลับมาทำหน้าที่ได้ดีขึ้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฟอกเลือด
  • ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ปัจจุบันผู้ป่วยเหล่านี้ เป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องได้รับการฟอกเลือดตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจวายบางราย ที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้

จำเป็นหรือไม่ต้องฟอกเลือดไปตลอดชีวิต?

  • ไม่จำเป็น ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเฉียบพลัน สามารถหยุดได้เมื่อไตกลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งจะใช้เวลาเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของไตในแต่ละคน (บางรายอาจใช้เวลาแค่ 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจนานถึง 6 เดือน)
  • จำเป็น ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นต้องรับการฟอกเลือดไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต

การฟอกเลือดแต่ละครั้งใช้ระยะเวลานานเท่าไร?

  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไตวายเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณครั้งละ 4 – 5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับระดับของเสียและสุขภาพของผู้ป่วย
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ความถี่ในการฟอกเลือด สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระดับความพอเพียงในการกำจัดของเสียและปริมาณปัสสาวะของผู้ป่วย ถึงต้องฟอกเลือดทุกวัน

หลังฟอกเลือดแล้วจะหายจากโรคไตหรือไม่?

  • การรักษาผู้ป่วยภาวะไตวายเฉียบพลัน การฟอกเลือดจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ จนกว่าไตจะฟื้นตัวกลับมาทำงานตามปกติ
  • การรักษาผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นการรักษาตัวผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่ เนื่องจากไตเสียไปแล้วอย่างถาวร

การฟอกเลือดเจ็บไหม?

โดยทั่วไปการฟอกเลือดมักจะไม่เจ็บปวด แต่จะมีบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเส้นเลือดจมอาจจะได้รับความเจ็บปวดเล็กน้อย เป็นเพียงเหมือนการเจาะเลือดหรือการฉีดยาธรรมดา ดังนั้น การฟอกเลือดจึงไม่น่ากลัวแต่อย่างใด

ผลข้างเคียงจากการฟอกเลือด?

อาจมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ เช่น เหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนแอ หงุดหงิดและเครียด ดังนั้น ผู้ดูแลควรทำความเข้าใจและคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ

การป้องกันโรคไต

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 6 – 8 แก้ว เพราะไตมีหน้าที่รักษาสมดุลของร่างกาย หากมีการขาดน้ำจะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้
  • รับประทานอาหารที่สุกสะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดท้องเสียซึ่งจะทำให้เกิดการขาดน้ำเฉียบพลัน ควรงดอาหารเค็มและรสจัดอย่างเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและไตเสื่อมเร็วขึ้น
  • ออกกำลังกาย คนเป็นโรคไตสามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ควบคุมน้ำหนัก เพราะคนอ้วนจะมีการเผาผลาญพลังงานสูงกว่าปกติ ร่างกายทำงานมากขึ้น ทั้งหัวใจ ปอด ความดันโลหิตสูง ไตทำงานหนักขึ้น จึงทำให้ไตเสื่อมเร็ว
Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว