หัวใจของคุณกำลังมีปัญหาอยู่หรือเปล่า? เมื่อต้องเผชิญกับอาการของหัวใจที่เต้นไม่เป็นจังหวะ ไม่ว่าจะเต้นเร็ว เต้นช้า เต้นๆ หยุดๆ หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อชีวิตทั้งสิ้น เพราะสามารถบ่งชี้ได้ว่านี่คือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลตามมาคือผู้ป่วยที่มีอาการเป็นๆ หายๆ ยังคงใช้ชีวิตปกติ ไม่คิดว่าอันตราย มารู้จักสาเหตุและอาการสังเกตเพื่อเฝ้าระวัง รวมถึงการตรวจวินิจฉัยและแนวทางการรักษาก่อนสายเกินแก้
รู้จักภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)
Cardiac arrhythmia คือ ภาวะที่มีการก่อกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ หรือมีการนำสัญญาณไฟฟ้าภายในห้องหัวใจผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว เต้นช้าหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
เช็ก Cardiac arrhythmia หรืออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างไร
- ใจสั่น ใจเต้นแรง ใจเต้นเร็ว
- เหนื่อยง่าย หายใจหอบ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก
- เจ็บหน้าอก
- หน้ามืด ตาลาย วูบ เป็นลมหมดสติ
- หัวใจหยุดเต้นหรือตรวจพบโดยบังเอิญ
- ไม่มีอาการหรือตรวจพบโดยบังเอิญ
หมายเหตุ :
- อาการที่พบในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือเป็นๆ หายๆ ได้ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น น้อยกว่า 10 วินาทีก็ได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แน่ใจในอาการที่รู้สึก หรืออาการแต่ละครั้งแตกต่างกันออกไป ถ้าสงสัยว่าอาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรรีบปรึกษาแพทย์
หัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ประเภท
หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
- ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) คือ การที่อัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรมากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก ซึ่งพบได้หลายชนิด ได้แก่ Supraventricular tachycardia (SVT), Ventricular tachycardia (VT), Ventricular fibrillation (VF)
- ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) คือ การที่อัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาทีในขณะตื่น ซึ่งพบได้หลายชนิดเช่นกัน ได้แก่ Atrioventricular block (AV block), Sinus node dysfunction หรือ Sick sinus syndrome (SSS)
- ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ (Irregular cardiac rhythm) พบได้หลายชนิด ได้แก่ Premature ventricular contraction (PVC), Atrial fibrillation (AF)
ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหลายชนิดเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งหัวใจเต้นผิดปกติแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดอาการหรือความรู้สึกที่เหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้การติดตามอาการ การตรวจเพิ่มเติมและการตรวจประเมินผลการรักษาเป็นระยะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
- ภาวะที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น Wolff-Parkinson-White syndrome (WPW syndrome), Brugada syndrome หรือที่เรารู้จักกันในชื่อโรคไหลตาย
- ภาวะที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ได้แก่
- เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เช่น โพเเทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม
- ระดับฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ
- ความผิดปกติของระดับก๊าซในเลือด หรือความผิดปกติของระดับความเป็นกรดด่างของเลือด เช่น ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำหรือเลือดเป็นกรด
- อุณหภูมิในร่างกายผิดปกติ เช่น มีไข้หรือติดเชื้อ
- ระดับความดันในหลอดเลือดผิดปกติ เช่น ความดันสูง ความดันต่ำดำหรือภาวะช็อกค
- เหล้า สุรา สารเสพติด สารพิษหรือยาบางชนิด
- อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย กระแสไฟฟ้าหรือกัมมันตภาพรังสี โดยเฉพาะบริเวณทรวงอก
- พบร่วมกับโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผนังหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงของหัวใจตีบตัน ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ กล้ามเนื้อหัวใจหนาแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ โรคเยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติหรือมีภาวะอักเสบติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจ
- การเสื่อมชราหรือการลดการทำงานของเซลล์หัวใจ
ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีสาเหตุของโรค ปัจจัยกระตุ้น โรคร่วมที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ควรได้รับการสืบค้น ติดตามและแก้ไขระหว่างเข้ารับการตรวจรักษาด้วย
การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การตรวจหรือวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติสามารถทำได้หลายวิธี แต่โอกาสที่จะตรวจพบในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันได้ เนื่องจากตัวโรคอาจมีความถี่ในการเกิดน้อย เช่น เป็นโรคที่มีอาการไม่บ่อย หรือช่วงเวลาที่เกิดไม่ชัดเจน หรือเป็นโรคที่ไม่มีปัจจัยการเกิดหรือไม่มีตัวกระตุ้นที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจมีผลทำให้ตรวจไม่พบความผิดปกติ อาจมีการตรวจซ้ำหลายครั้งหรือต้องตรวจหลายวิธี เป็นต้น โดยการตรวจที่ใช้บ่อยๆ ได้แก่
1) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography หรือ ECG) เป็นการตรวจที่มีประโยชน์มาก เพราะสามารถตรวจในระหว่างที่มีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ อีกทั้งสามารถให้ข้อมูลทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate) หรือจังหวะการเต้นของหัวใจ (Cardiac rhythm) โดยสามารถทำการตรวจได้หลายวิธี ดังนี้
- 12-lead ECG:ใช้เวลาในการตรวจสั้น สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลทั่วไปและราคาไม่แพง
- EKG monitoring: เป็นการตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล
- 24-hours Holter ECG: เป็นเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา โดยเครื่องจะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้ตลอดเวลา ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรได้ตามปกติ สามารถนำกลับบ้านได้และนำเครื่องมาคืนเพื่ออ่านผลหลังครบกำหนดเวลาที่บันทึกแล้ว
- Event recorder: เป็นอุปกรณ์พกพาเพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยขณะที่เกิดอาการผิดปกติผู้ป่วยจะต้องทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตามคำแนะนำ และนำเครื่องมาคืนเพื่อรับการอ่านผล
- Implantable loop recorder (ILD): เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำการติดตั้งไว้ ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางประเภท เช่น หมดสติหรือเป็นลมซ้ำซาก อาการเกิดไม่บ่อยหรือไม่สามารถหาสาเหตุของอาการได้ชัดเจน
2) การตรวจนับชีพจร(Pulse) เป็นการตรวจที่ไม่ยากและสามารถทำได้ตลอดเวลา โดยจะให้ข้อมูลเบื้องต้น เช่น อัตราเร็วของชีพจร(ครั้งต่อนาที) ลักษณะชีพจร เช่น สม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอ โดยสามารถทำการตรวจได้หลายวิธี เช่น
- คลำและนับชีพจรบริเวณข้อมือหรือบริเวณคอ
- ตรวจวัดจากเครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอล (Digital sphygmomanometer)
- ตรวจวัดจากเครื่องวัดปริมาณออกซิเจน (Pulse oximeter)
- ตรวจด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น นาฬิกาดิจิตอล โทรศัพท์ชนิดสมาร์ทโฟน
3) การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology study หรือ EP study) เป็นการตรวจเพื่อใช้ในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ช่วยในการประเมินความเสี่ยงของโรคหรือประเมินผลการรักษา โดยในขั้นตอนการตรวจนั้นจะมีการใส่สายวัดสัญญาณไฟฟ้าหัวใจจำนวน 3-4 เส้น ผ่านทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบหรือที่คอเพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจห้องบน ห้องล่าง หลอดเลือดดำโคโรนารี่(Coronary sinus) และบริเวณ AV node
โดยระหว่างทำการตรวจจะมีการตรวจกระตุ้นเพื่อวัดความสามารถในการกำเนิดไฟฟ้า การนำไฟฟ้า การส่งต่อสัญญาณไฟฟ้าและการกำเนิดของสัญญาณการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ โดยภายหลังการตรวจวิเคราะห์จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นเร็วก็สามารถทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจ(Radiofrequency catheter ablation RFCA) เพื่อรักษาให้หายขาดได้
ทั้งนี้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและไม่พบความผิดปกติใดๆ ในขณะที่ผู้ป่วยหายจากอาการใจสั่นแล้ว อาจไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นกับชนิดของโรค ความรุนแรง สาเหตุการเกิด ปัจจัยกระตุ้น อาชีพและกิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย โดยสามารถแบ่งได้เป็น
- การรักษาหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) เช่น รักษาด้วยยา ลดปัจจัยกระตุ้นการกำเริบของโรค จี้ไฟฟ้าหัวใจ ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automatic implantable cardioverter-defibrillator; AICD)
- การรักษาหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) เช่น หยุดหรือลดปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดโรค ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
- การรักษาหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ (Irregular cardiac rhythm) เช่น รักษาด้วยยา จี้ไฟฟ้าหัวใจ
ทั้งนี้ การรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีแนวทางหรือทางเลือกการรักษาได้หลายวิธี ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเพื่อสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง โดยได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจโดยเฉพาะ
เพราะหัวใจของเรามีเพียงดวงเดียว จึงควรเฝ้าระวังอาการผิดปกติและดูแลรักษาเป็นอย่างดี หากมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แม้จะมีอาการเป็นช่วงๆ เป็นๆ หายๆ เล็กน้อยแค่ไหนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด อย่าปล่อยให้ระดับความรุนแรงของโรคก้าวกระโดดไปไกล เพราะสุดท้ายอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้