รับมือท้องผูกเรื้อรัง รู้ก่อนลดเสี่ยงกว่า!

article-รับมือท้องผูกเรื้อรัง รู้ก่อนลดเสี่ยงกว่า!

Wednesday 03 April 2024

Dr. Worawan Bunraksa

5.00

อาการท้องผูก (Constipation) อาจเป็นภาวะที่พบได้ของคนทุกวัย แต่หากมีอาการเป็นๆ หายๆ จนเข้าข่าย “ท้องผูกเรื้อรัง” อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรคริดสีดวงทวาร หรือภาวะความดันผิดปกติตามอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น ลำไส้ และหัวใจ ชวนเช็กอาการ “ท้องผูกเรื้อรัง” หากเข้าข่ายว่าใช่! ให้เริ่มต้นแก้อาการท้องผูกตามนี้

ดูยังไงว่าแบบไหนเรียก อาการท้องผูกเรื้อรัง ?

แม้อาการท้องผูกจะเป็นอาการที่พบได้ในคนทุกวัย แต่สำหรับอาการท้องผูกเรื้อรังนั้น จะมีระยะเวลาของอาการที่ยาวขึ้น ซึ่งหมายถึง

  • การออกแรงเบ่งอุจจาระมากขึ้น 
  • อุจจาระแข็งมากขึ้น
  • ถ่ายได้น้อยลง ไม่ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 
  • ความรู้สึกถ่ายไม่สุด หรืออุจจาระไม่สุด
  • รู้สึกเจ็บระหว่างเบ่งถ่าย หรือมีเลือดปนออกมา 

โดยแต่ละคนอาจมีอาการมากน้อยไม่เหมือนกัน และมีอาการต่อเนื่องกันประมาณ 3-6 เดือน เรียกว่า “ท้องผูกเรื้อรัง” อีกทั้งในบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ต้องใช้นิ้วช่วยการขับถ่าย และมักจะไม่มีอาการปวดท้องที่เด่นชัด เป็นเพียงความรู้สึกอึดอัด แน่นท้องที่ไม่ได้ถ่าย เป็นต้น

สาเหตุใกล้ตัว-ต้นตอของอาการท้องผูกเรื้อรัง

อาการท้องผูกเรื้อรังมีสาเหตุตั้งต้นส่วนใหญ่มาจากไลฟ์สไตล์ หรือการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการกิน โรคประจำตัว สภาวะทางสุขภาพในช่วงเวลานั้นๆ ไปจนถึงการใช้ยาบางชนิด ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคท้องผูกเรื้อรังได้ ดังนี้ 

  • โรคของลำไส้ที่ผิดปกติ เช่น การมีเนื้องอกลำไส้ การตีบตันของลำไส้
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคสมอง โรคเส้นประสาทกดทับ
  • ฮอร์โมนที่ผิดปกติ เช่น ภาวะตั้งครรภ์ ภาวะไทรอยด์ต่ำ
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคพาร์กินสัน แคลเซียม ธาตุเหล็ก

สำหรับผู้ที่ไม่มีสาเหตุดังที่กล่าวมา เช่น การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง ปัญหาที่ขั้นตอนการเบ่งถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาใดที่กล่าวมา อาจเกิดจากภาวะเครียดได้เช่นกัน

สัญญาณเตือน! ที่ต้องรีบมาพบแพทย์
  • ถ่ายมีเลือดปน หรือมีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ
  • ปวดท้องมากขึ้น หรือรู้สึกท้องอืดจนแน่น
  • น้ำหนักลดผิดปกติ
  • ท้องผูกกลายเป็นถ่ายเหลว ถ่ายไม่คล่อง/ไม่สุด รู้สึกหน่วงที่ก้น
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

ประเมินอาการและการรักษาท้องผูกเรื้อรัง

เมื่อมาตรวจหาสาเหตุ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายเพื่อแยกโรค ก่อนจะทำการตรวจเพิ่มเติมตามลักษณะอาการ โดยอาจใช้การตรวจผ่านผลเลือด หรือประเมินร่วมกับภาพรังสี ซึ่งหากตรวจพบโรคหรือสาเหตุของอาการท้องผูกเรื้อรัง แพทย์จะก็รักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ ควบคู่กับใช้วิธีปรับพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การรับประทานอาหาร การปรับยาช่วยระบาย และการฝึกการขับถ่าย เป็นต้น

กินอะไรดี พร้อมวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเริ่มมีอาการท้องผูก

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น 
  • ควรมีทุกๆ มื้อ อาจเป็น ผัก ผลไม้ หรือซีเรียลต่างๆ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณ 2 ลิตร ต่อวัน
  • ออกกำลังกายให้เพียงพออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และต่อเนื่องครั้งละ 30-45 นาที
  • ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหลังอาหารเช้า

หากเราปล่อยอาการท้องผูกเรื้อรัง ให้เรื้อรังอยู่นาน… อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับใครที่มีปัญหาสุขภาพช่องท้องกวนใจ แนะนำให้เลือกกินอาหารที่มีกากใยและโพรไบโอติกส์ แต่หากมีอาการมากเกินปกติควรนัดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

วรวรรณ บุญรักษา

ขอขอบคุณบทความจาก
แพทย์หญิงวรวรรณ บุญรักษา
สาขา: อายุรศาสตร์
อนุสาขา: อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

Better health

Related services

Related Articles

This website uses cookies

We use cookies to enhance efficiency and provide a good experience on our website. You can manage your cookie preferences by clicking "Cookie Settings" in the privacy policy