นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
นิ่วเกิดจากการที่สารบางชนิด เช่น กรดยูริก ออกซาเลต หรือแคลเซียม เข้าไปอุดตันอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ท่อไต และไต ทำให้เกิดการขัดขวางทางเดินของน้ำปัสสาวะ ปัจจุบันพบว่านิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี โดยจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์
ให้บริการตรวจวินิจฉัยนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง นอกจากนี้ยังพัฒนาการผ่าตัดรักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะด้วยการส่องกล้อง ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสลายนิ่วด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งไม่ทำให้เกิดแผลหรือมีแผลขนาดเล็กมาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
สาเหตุของการเกิดนิ่ว
1. กรรมพันธุ์
2. ความผิดปกติของต่อมพาราทัยรอยด์
3. ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การตีบแคบของท่อปัสสาวะ
4. การดื่มน้ำน้อย หรือการสูญเสียน้ำจากร่างกายมาก
5. การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกหรือสารออกซาเลตมากเกินไป
6. การอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
7. ยาบางชนิด
อาการ
1. ปัสสาวะลำบากหรือแสบขัด
2. ปัสสาวะไม่ออกหรือมีเลือดปน
3. ปวดบริเวณบั้นเอวหรือท้อง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของนิ่ว
การตรวจวินิจฉัย
1. การซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ
2. การตรวจปัสสาวะเพื่อค้นหาว่ามีเลือดหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
3. การตรวจอัลตราซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ (Ultrasound KUB System)
4. การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย เพื่อดูรูปร่าง ลักษณะ และตำแหน่งของผลึกหรือก้อนนิ่ว (Plain KUB System)
5. การถ่ายภาพรังสีร่วมกับการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous Pyelography - IVP)
6. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (CT KUB System)
การรักษา
การรักษาขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว นิ่วที่ไม่สามารถหลุดออกมาได้เอง มีแนวทางการรักษาหลายวิธี ได้แก่
1.การรับประทานยาละลายนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วชนิดยูริกที่สามารถละลายได้โดยการให้ยา
2.การสลายนิ่วโดยการใช้คลื่นกระแทก (ESWL: Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy)
คือ การใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำส่งผ่านผิวหนังไปยังก้อนนิ่ว เพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และไหลหลุดออกมากับปัสสาวะได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง การสลายนิ่วโดยการใช้คลื่นกระแทก ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการรักษานิ่วในไตและท่อไต
3. การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเพื่อคล้องหรือกรอนิ่วในท่อไต (URS: Uretero-renoscope)
วิธีนี้ไม่ทำให้เกิดแผล เนื่องจากเป็นการส่องกล้องผ่านทางรูท่อปัสสาวะที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และใช้เครื่องมือคล้องนิ่วหรือกรอนิ่วให้มีขนาดเล็กลง เหมาะสำหรับการรักษานิ่วในท่อไต
4. การส่องกล้องเพื่อกรอนิ่วในไต (PCNL: Percutaneous Nephrolithotomy)
เป็นวิธีการรักษานิ่วในไตที่พัฒนามาเพื่อเลี่ยงการผ่าตัด ซึ่งจะใช้วิธีเจาะรูเล็กๆ จากผิวหนังเพื่อผ่านเข้าไปในกรวยไต โดยจะใช้กล้องและเครื่องมือสอดตามเข้าไปกรอนิ่วให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และดูดหรือคีบนิ่วออกมา เหมาะสำหรับนิ่วในไตที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่
5. การขบนิ่ว (Cystolithotripsy)
เป็นการใส่เครื่องมือเข้าไปทางท่อปัสสาวะ เพื่อขบนิ่วให้แตกแล้วนำออกมา โดยไม่ทำให้เกิดแผลใดๆ ซึ่งจะใช้เพื่อรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ