โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ :
- โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสสารคัดคลั่ง อาทิ น้ำมูก เสมหะ การไอจามรดกัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงมากถึง 40 ํC ปวดเมื่อยตามตัว คัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอและไอ หากมีภาวะแทรกซ้อนก็จะเกิดภาวะปอดอักเสบและอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉลี่ยระยะเวลาป่วยประมาณ 6-7 วัน
- โรคปอดอักเสบ เป็นการอักเสบของเนื้อปอด พบได้บ่อยโดยเฉพาะ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ
และผู้ที่มีภาวะต้านทานต่ำ ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ด้วยการ การไอ จาม หรือหายใจรดกัน
โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ :
- โรคไข้เลือดออก โรคที่เกิดจากไวรัสเดงกี มักพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ขวบ ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นได้ สำหรับอาการที่พบ ได้แก่ ไข้สูงเฉียบพลัน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว ถ่ายมีสีดำ มีผื่นแดงขึ้นตามแขน ขา ลำตัว รวมถึงภาวะช็อคช่วงไข้ลด มือเท้าเย็น ชีพจรเบาและเร็ว ตับโต กดเจ็บบริเวณชายโครงขวา
- โรคชิคุนกุนยา มีอาการคล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก แต่โรคไข้เลือดออกจะรุนแรงมากกว่า
โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร : โรคอุจจาระร่วง คือภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวผิดปกติ ตั้งแต่ 3 ครั้งติดต่อกัน หรือมากกว่าใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้ง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอนพยาธิในลำไส้ การรับประทานอาหาร และน้ำไม่สะอาด
โรคติดต่อจากการสัมผัส :
- โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะ โดยมักปนเปื้อนกับน้ำที่ท่วมขังตามทาง เข้าสู่ทางผิวหนังที่มีบาดแผล อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ตาแดง เลือดออกใต้ตาขาว
- โรคมือเท้าปาก มีสาเหตุมาจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
โดยอาการเริ่มต้นมักเริ่มมีไข้สูง จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน เช่น เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณปาก
การดูแลตนเองและคนใกล้ชิดให้มีสุขภาพแข็งแรง และระมัดระวังโรคในช่วงหน้าฝนนี้ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย โดยสามารถทำได้ด้วยการเน้นย้ำการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด ล้างมือให้สะอาด รักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ