จบปัญหาข้อเข่าเสื่อมด้วยเทคโนโลยี “ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า” แผลเล็ก ฟื้นตัวไว
เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เอง เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวอีกต่อไป ข้อเข่าที่ขยับเขยื้อนยู่ตลอดเวลาจึงสะสมเป็นปัญหาข้อเข่าเสื่อม จนเกิดเป็นอาการปวดบริเวณข้อเข่ารุนแรง เจ็บ ระบม ลุกเดินติดขัด ขยับไม่ได้ดั่งใจ กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จัดเป็นภาวะผิดปกติที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วนปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาโดย ‘การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า’ จึงเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถประเมินอาการและรักษาปัญหาปวดเรื้อรังจากข้อเข่าเสื่อม รวมถึงซ่อมแซมเอ็นที่ฉีกขาด ผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกังวลถึงผลหลังการผ่าตัด และไม่ต้องทนทุกข์กับการเจ็บป่วยอีกต่อไป
การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า คืออะไร
การผ่าตัดข้อเข่าผ่านการส่องกล้อง คือการผ่าตัดที่แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดใช้กล้องขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังและสอดกล้องเข้าไป เพื่อมองสำรวจสภาพความผิดปกติภายในข้อเข่า และทำการรักษาโดยการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคนิคที่ออกแบบมาโดยเฉพาะผ่านแผลเจาะเล็กๆ ที่มีขนาดน้อยกว่า 1 ซม.
ด้วยเทคนิคนี้ ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดเล็กๆ เพียง 2-3 แผล ทำให้อาการปวดแผลภายหลังผ่าตัดลดลงมากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ใช้การเปิดแผลกว้างๆ ผู้ป่วยฟื้นตัวไว เข่ากลับไปใช้งานได้เร็วขึ้น ได้คุณภาพชีวิตคืนมาอย่างรวดเร็ว
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า
- ผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย
- ควรแจ้งแพทย์หากมีโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาโดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดและประวัติแพ้ยา
- ต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
- การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าผู้ป่วยจะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด ประมาณ 1 – 2 วัน แต่ในบางกรณีแพทย์อาจอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นการผ่าตัดที่ไม่ใหญ่มาก
เมื่อไรที่ควรใช้กล้องผ่าตัดข้อเข่า
- เพื่อผ่าตัดเกี่ยวกับหมอนรองเข่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม ด้วยอาการปวด บวม เจ็บแสบ ติดขัดขณะเดินหรือขยับข้อเข่าไปตามอิริยาบถต่างๆ เช่น ขึ้นลงบันได นั่งพับขา เป็นต้น
- เพื่อผ่าตัดสร้างเส้นเอ็นไขว้หน้าหรือไขว้หลังภายในข้อเข่าอันเกิดจากอุบัติเหตุ หรือจากการเล่นกีฬา
- เพื่อผ่าตัดรักษากระดูกอ่อนที่แตกอยู่ในข้อเข่า ด้วยการปรับสภาพผิวข้อเข่า และปลูกถ่ายกระดูกอ่อนผิวข้อ
- เพื่อตัดชิ้นเนื้อภายในข้อเข่ามาตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy)
- เพื่อมองสำรวจภายในข้อเข่าอย่างละเอียดโดยตรง ในบางกรณีที่สงสัยพยาธิสภาพภายในข้อเข่า แต่ไม่สามารถตรวจด้วยวิธีปกติจากภายนอกได้
การพักฟื้นหลังผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้
- ควรยกขาสูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดการบวมให้น้อยที่สุด
- ไม่ควรเดินมากเกินความจำเป็นในช่วงแรกหลังผ่าตัด และควรประคบเย็นรอบๆ เข่าทุก 4 – 6 ชั่วโมง เพื่อลดอาการบวมและปวด
- แผลผ่าตัดจะถูกปิดไว้ แพทย์จะแนะนำถึงการดูแลแผล และจะนัดตัดไหมในวันที่ 7 - 10 หลังผ่าตัด
- การเดินหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่จะต้องใช้ไม้ค้ำยันในการช่วยเดินในช่วงแรกหลังผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดข้อเข่า
การส่องกล้อง ก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิด การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าก็มีอัตราเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด ได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากๆ และมักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าข้อเข่า
- การติดเชื้อ (พบน้อยมาก)
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อาจเกิดในผู้สูงวัยที่ไม่ขยับตัว ไม่เคลื่อนไหวหลังผ่าตัดใหม่ๆ
- ภาวะเลือดออกในข้อเข่า
- ข้อติด อาจเกิดได้ในผู้ป่วยที่ไม่ขยับเขยื้อนร่างกายในระยะเวลาที่แพทย์อนุญาตให้ทำ
เมื่อไหร่ควรรีบกลับมาพบแพทย์
- มีไข้ หนาวสั่น
- มีอาการ บวม แดง ร้อนบริเวณข้อเข่าที่ผ่าตัดที่ไม่ดีขึ้น
ผลการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า
ส่วนใหญ่ผลการรักษาค่อนข้างดี แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพการบาดเจ็บของข้อเข่าด้วยว่ารุนแรงมากน้อยระดับใด เช่น ในรายที่มีกระดูกอ่อนผิวข้อที่แตกและสึกกร่อนมาก แต่แพทย์จะพยายามรักษาฟื้นฟูให้เข่ากลับมาใช้งานได้ดีใกล้เคียงเดิมให้ได้ มากที่สุด โดยเฉพาะในรายที่เป็นนักกีฬาอาชีพ
ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่าง ‘การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า’ ให้ผลดีต่อผู้ป่วยในทุกมิติ ทั้งช่วยลดระยะเวลาการรักษา ลดโอกาสการติดเชื้อหลังผ่าตัด และยังไม่ต้องเผชิญกับอาการปวดแผลหลังผ่าตัด เมื่อเทียบกับการรักษาแบบผ่าตัดเปิดแผล จึงนับว่าเป็นการผ่าตัดที่ได้ประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ผู้ป่วยสามารถกลับมามีความสุขกับการก้าวเดินได้อีกครั้ง รวมถึงสามารถวางแผนการรักษาดูแลข้อเข่าในอนาคตได้ในคราวเดียว