มือชา อ่อนแรงอย่านิ่งนอนใจ อาจเข้าข่ายโรคชามือจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาท

article-มือชา อ่อนแรงอย่านิ่งนอนใจ อาจเข้าข่ายโรคชามือจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาท

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567

นพ.พิเชฐ แสงทองศิลป์

5.00

มือชา อ่อนแรงอย่านิ่งนอนใจ อาจเข้าข่ายโรคชามือจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาท

หากคุณมีอาการมือชา ปวดแปลบๆ เหมือนถูกเข็มทิ่มหรือโดนไฟช็อต เป็นไปได้ว่าอาจเข้าข่ายโรคชามือจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาท (Carpal tunnel syndrome) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการชานิ้วมือที่พบได้บ่อยที่สุด หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางยิ่งมีโอกาสหาย และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชามือ อาการที่สังเกตได้ ตลอดจนวิธีการตรวจวินิจฉัยและรักษา  

อาการชามือ เกิดจากพังผืดที่ฝ่ามือหนาตัวขึ้นแล้วไปกดเบียดในโพรงฝ่ามือ ซึ่งมีเส้นประสาทมือลอดผ่าน ทำให้มีอาการปวดแปลบๆ เหมือนไฟฟ้าช็อต ปวดร้าวไปแขนหรือข้อศอก เสียวบริเวณปลายนิ้วมือ ชามือโดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง หากปล่อยทิ้งไว้นานจะมีอาการกล้ามเนื้ออุ้งหัวแม่มืออ่อนแรง นอกจากนี้ หากเส้นประสาทถูกกดทับนานๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือฝ่อ ลีบเล็กลงได้

สาเหตุของอาการมือชา เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานข้อมือในท่าเดิมๆ นานๆ พบบ่อยในกลุ่มวัยทำงานหรือคนทำงานออฟฟิศที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน การยกของหนัก ทำงานบ้าน ทำสวน นักกีฬาที่จำเป็นต้องใช้งานข้อมือหนัก หรือเกิดร่วมกับภาวะบางอย่างรวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการกดทับของเส้นประสาท เช่น การตั้งครรภ์ วัยทอง เบาหวาน ข้ออักเสบเรื้อรังต่างๆ ไฮโปไทรอยด์ ภาวะอ้วน รูมาตอยด์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดพังผืดกดทับเส้นประสาทมือมากกว่าคนทั่วไป

การวินิจฉัยโรคชามือ สามารถทำได้โดยการตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ หรือแพทย์ทั่วไปที่ชำนาญ นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจพิเศษซึ่งอาจมีข้อบ่งชี้เฉพาะในรายที่ประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจนเท่านั้น โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) และความเร็วในการนำเส้นประสาท (NCV)

การรักษาโรคชามือ

หากอาการเพิ่งเริ่มต้น สามารถรักษาได้ดังนี้

  1. พักการใช้งานข้อมือ อาจใช้การใส่ที่ประคองข้อมือ
  2. การกินยา ควรได้รับการจ่ายยาจากแพทย์ผู้ชำนาญ เนื่องจากยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบที่ซื้อได้ทั่วไปอาจรักษาอาการได้เพียงชั่วคราว หากกินต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจมีผลข้างเคียงได้
  3. การทำกายภาพ โดยการทำอัลตร้าซาวด์ลดการอักเสบ หรือการฝึกบริหารมือเพื่อคลายพังผืดฝ่ามือ
  4. การฉีดยา ในรายที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาฉีดยาแก้อักเสบเข้าในโพรงฝ่ามือ ซึ่งควรฉีดโดยแพทย์ผู้ชำนาญ

ทั้งนี้ในรายที่มีอาการมาก เช่น มีอาการมือชาตลอดเวลา กล้ามเนื้ออุ้งหัวแม่มือลีบ อ่อนแรง มีอาการนานกว่า 10 เดือน อายุมากกว่า 50 ปี หรือมีเอ็นนิ้วหรือข้อมืออักเสบร่วมด้วย การรักษาที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่ประสบความสำเร็จ ต้องพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อคลายพังผืดฝ่ามือที่กดทับ ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็กที่ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที สามารถกลับบ้านหลังผ่าตัดได้ แต่หากมีอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถกางนิ้วหัวแม่มือได้ อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปเพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรค
อย่างไรก็ตาม นอกจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาทแล้ว อาการชามือ อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น กระดูกคอทับเส้นประสาท ร่างแหเส้นประสาทแขนอักเสบ เส้นประสาทแขนกดทับที่ศอก ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางและได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งหากนิ่งนอนใจปล่อยให้อาการของโรคยกระดับจนพังผืดกดทับเส้นประสาทมือ และไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือด้านนอกลีบถาวรได้

 

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว