ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty liver)
ภาวะไขมันพอกตับ
เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในตับมากกว่าปกติ ซึ่งพบได้มากถึงร้อยละ 20 ของประชากรไทย ในระยะแรกอาจไม่ก่อให้เกิดอาการ มักตรวจพบจากการเจาะเลือดตรวจสุขภาพ หรือ อัลตราซาวนด์ช่องท้องพบมีไขมันพอกตับ แต่ถ้ามีไขมันสะสมในตับระยะยาว สามารถส่งผลเสียได้ต่างๆมากมาย อาทิ เช่น ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง พังผืดในตับ ตับแข็งและ มะเร็งตับได้
สาเหตุของภาวะไขมันพอกตับ
- มักพบในกลุ่มโรคเมตาบลิก เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงไขมันในโลหิตสูง
- ดื่มสุรา แอลกอฮอล์
- ภาวะน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ25 kg/m2) หรือภาวะอ้วนลงพุง (รอบพุงเกิน 90เซนติเมตรในผู้ชายหรือ เกิน 80เซนติเมตรในผู้หญิง)
- ยาบางชนิด
- โรคตับชนิดอื่นๆ
การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ
-
เจาะเลือดดูค่าการทำงานของตับ ว่ามีผิดปกติหรือไม่
-
อัลตราซาวนด์ช่องท้องสวนบน พบลักษณะที่เข้าได้กับภาวะไขมันพอกตับ
-
Fibroscan เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยประเมินปริมาณไขมันที่สะสมในตับ
รวมถึงสามารถบอกพังผืดในตับที่เกิดจากการที่มีไขมันสะสมได้อีกด้วย ข้อดีคือใช้ระยะเวลาทำไม่นาน ไม่มีผลข้างเคียง
การรักษาภาวะไขมันพอกตับ
มักรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับในผู้ป่วยแต่ละราย ที่ต่างกันไป อาทิเช่น
-
หากมีโรคประจำตัวเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดีด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และควบคุมอาหาร
-
หากมีภาวะน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนัก จนกระทั่งน้ำหนักตัวลดลงจากเดิมร้อยละ 7-10
-
ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 150นาทีต่อสัปดาห์ โดยควรเป็นการออกกำลังกายแบบหนักปานกลาง (Moderate intensity) เช่น วิ่งเร็วพอประมาณรู้สึกเหนื่อย แต่ยังพอพูดเป็นประโยคสั้นๆได้
-
รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ ลดแป้ง ขนมปัง เน้นอาหารกากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
-
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
-
หากภาวะไขมันพอกตับนั้นเกิดจากยาบางชนิด ให้งดยาที่เป็นสาเหตุ