เรื่องที่คุณต้องรู้! ต้อกระจก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

article-เรื่องที่คุณต้องรู้! ต้อกระจก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567

5.00

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุร่างกายจากที่เคยใช้งานได้ดีอยู่ ก็เริ่มเกิดความเสื่อมถอยจนสังเกตได้ เช่น ข้อเสื่อม สมองเสื่อม หูตึง ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ดวงตา” โดยเฉพาะความเสื่อมบริเวณเลนส์แก้วตา ที่มักทำให้เกิดเป็น “ต้อกระจก” ขึ้นได้ แม้จะเป็นปัญหาสุขภาพที่หลีกเลี่ยงได้ยากแต่เรายังสามารถชะลอความเสื่อมเหล่านี้ได้ มาทำความรู้จักถึงสาเหตุและอาการของต้อกระจก เพื่อช่วยให้คุณลดความเสี่ยงและชะลอการเสื่อมของดวงตา พร้อมป้องกันและดูแลสุขภาพดวงตาได้ดียิ่งขึ้น 

สาเหตุของโรคต้อกระจกเกิดจากอะไร ?

“โรคต้อกระจก” (Cataract) เกิดจากความเสื่อมของโปรตีนในเลนส์แก้วตาที่มีความขุ่นมัวและแข็งตัวขึ้น ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปสู่จอตาได้ ซึ่งพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ยิ่งหากละเลยปัญหาต้อที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ และไม่รีบเข้ารับการรักษากับจักษุแพทย์อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อีกได้ ทั้งนี้โรคต้อกระจกยังสามารถเกิดจากสาเหตุ อื่นๆ ร่วมด้วยได้ ดังนี้ 

  • ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
  • การติดเชื้อเรื้อรังที่ดวงตา
  • การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์
  • ดวงตาได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน
  • โรคประจำตัวที่มีโอกาสก่อให้เกิดโรคต้อกระจกได้ เช่น โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

อาการของต้อกระจกเป็นอย่างไร ? 

โรคต้อกระจกเป็นโรคที่มีการก่อตัวและมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ซึ่งอาจเริ่มจากอาการเล็กน้อย แต่จะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาการที่พบบ่อยของโรคต้อกระจกมี ดังนี้ 

  • ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง มองไม่ชัด เป็นอาการที่ตาค่อยๆ มัวลงอย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการอื่น และจะเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า แต่กลับมองเห็นเกือบเป็นปกติในที่มืดสลัวหรือเวลาพลบค่ำ
  • มองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากการหักเหของแสงไม่ลงที่จอประสาทตา
  • มองเห็นวงรอบแสงไฟ
  • เมื่ออ่านหนังสือต้องใช้แสงจ้า
  • ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย
  • ตาสู้แสงไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย
  • ในผู้ที่ต้อกระจกสุก จะมองเห็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา
โรคต้อกระจกอันตรายไหม ?
ต้อกระจกเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการมองเห็นของดวงตาโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน เห็นภาพเบลอไม่โฟกัส จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้การมองเห็นแย่ลงจนถึงขั้นตาบอดได้

วิธีการรักษาต้อกระจกทำได้อย่างไรบ้าง ? 

โรคต้อกระจกจะมีระยะความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการดำเนินของโรคที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะทำการตรวจประเมินอาการเบื้องต้นและเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสม ดังนี้ 

  1. ต้อกระจกที่พึ่งเริ่มเป็นไม่นานมากจะสามารถชะลออาการได้ โดยระหว่างนี้แพทย์จะนัดมาตรวจและรักษาตามอาการไปก่อน
  2. ต้อกระจกที่แก่หรือใกล้สุก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัด เพราะอาจเริ่มมีโรคแทรกซ้อนที่จะทำให้เกิดอันตรายรุนแรงได้ 

วิธีการผ่าตัดรักษาต้อกระจกทำได้ 2 วิธี ดังนี้ 

  • Phacoemulsication การผ่าตัดสลายต้อกระจก เป็นวิธีที่นิยมที่สุด โดยการเจาะรูเล็กๆ แล้วใช้เครื่อง Ultrasound สลายเลนส์และดูดออกทีละนิดจนหมด วิธีผ่าตัดนี้แผลจะเล็กและโดยส่วนใหญ่จะไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
  • Extracapsular Cataract Extraction การผ่าตัดต้อกระจกเป็นแผลกว้าง เป็นวิธีผ่าตัดที่จะใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมากๆ โดยนำเอาเลนส์ที่เสียออกทั้งชิ้นแล้วนำเลนส์แก้วตาเทียมใส่เข้าไป วิธีนี้แผลจะใหญ่ และจะต้องเย็บปิดแผลด้วย 

หลังจากที่ผู้ป่วยทำการผ่าตัดแล้วอาจมีอาการระคายเคือง ซึ่งต้องใส่เครื่องป้องกันการขยี้ตาในช่วงเวลากลางคืน และใส่แว่นช่วงกลางวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นจะทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น แต่จะชัดที่สุดคือหลังผ่าตัด 4 สัปดาห์ 

แม้โรคต้อกระจกในระยะแรกๆ จะมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่ประสิทธิภาพในการมองเห็นของดวงตาจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ หากคุณพบอาการผิดปกติของดวงตา มีอาการตาพร่ามัว ตาไม่สู้แสง ควรรีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว เพราะหากปล่อยไว้นานอาจเป็นการสร้างความเสียหายต่อดวงตามากขึ้นจนอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ 

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว