อย่าปล่อยให้ ‘เส้นเลือดขอด’ บั่นทอนคุณภาพชีวิต

article-อย่าปล่อยให้ ‘เส้นเลือดขอด’ บั่นทอนคุณภาพชีวิต

วันพุธที่ 3 เมษายน 2567

5.00

อย่าปล่อยให้ ‘เส้นเลือดขอด’ บั่นทอนคุณภาพชีวิต

เส้นเลือดขอด… หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่จึงละเลยเรื่องการรักษา ใครๆ ก็เป็นกัน ในขณะที่โรคนี้กลับรบกวนความมั่นใจของคุณผู้หญิง เพราะเส้นเลือดที่ปูดโปนสีคล้ำทำให้เรียวขาไม่น่ามอง อีกทั้งผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า! หาคำตอบไปพร้อมกันว่าเพราะอะไร และทำความรู้จักเส้นเลือดขอดให้มากขึ้นแบบเจาะลึกตั้งแต่สาเหตุการเกิด สัญญาณเตือนที่ชวนสังเกต การรักษาเส้นเลือดขอดรวมถึงการป้องกันได้จากบทความนี้ 

เส้นเลือดขอด (Varicose vein) คือ เส้นเลือดดำที่บวม โป่งพอง และบิดขดอยู่บริเวณชั้นใต้ผิวหนังชั้นตื้น (Superficial veins) พบบ่อยบริเวณขาและเท้า เนื่องจากแรงดันในเส้นเลือดที่สูงขึ้นจากการเดินหรือยืนนานๆ

เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร 

เส้นเลือดขอดเกิดจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้น (Valve) เล็ก ๆ ในเส้นเลือดดำที่ขาซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการไหลเวียนของเลือดดำ โดยการปิดกั้นไม่ให้เลือดมาคั่งที่ขา ดังนั้นหากลิ้นเล็กๆ นี้มีการเสื่อมก็จะทำให้เกิดการคั่งที่ขาอย่างเรื้อรัง ทำให้แรงดันเส้นเลือดดำนั้นๆ สูงขึ้น จนเกิดเส้นเลือดขอดตามมา

โดยสาเหตุที่ทำให้ลิ้นเสื่อม เกิดจากการเสื่อมตามอายุหรือตามพันธุกรรม หรือเกิดจากการที่ลิ้นปิดไม่สนิท ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลิ้นไม่สามารถปิดกั้นได้สนิท มาจากการเพิ่มความดันเรื้อรังในเส้นเลือดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การยืนเป็นเวลานาน หรือมีการอุดกั้นทางเดินของเลือดดำ เช่น การกดทับเส้นเลือดจากก้อนเนื้อ มีก้อนมะเร็งในอุ้งเชิงกราน หรือมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น การตั้งครรภ์ โรคอ้วน หรือท้องผูกเรื้อรัง

จับสังเกตอาการเตือนเส้นเลือดขอด

  • เห็นเส้นเลือดเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้ม เนื่องจากหลอดเลือดดำขยายตัวคล้ายตาข่ายแมงมุม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มม. โดยที่ไม่มีอาการปวด
  • มีอาการปวดเหมือนรู้สึกขาหนักๆ โดยเฉพาะตอนเย็น อาจมีอาการปวดตุ้บๆ ปวดแปลบๆ หรือแสบร้อน, กล้ามเนื้อเป็นตะคริวและบวมที่ขาทั้ง 2 ข้าง
  • คันบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดหรือรอบๆ
  • มีแผลที่ผิวหนัง, แผลเรื้อรัง, หรือเคยหายแล้วและกลับมาเป็นใหม่
  • มีเลือดออกหรือรอยช้ำหลังจากมีการบาดเจ็บต่อเส้นเลือดขอด
  • เกิดการอักเสบของเส้นเลือดขอด ทำให้มีการปวด บวมแดง ร้อนตามแนวของเส้นเลือดขอด
  • เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี

การรักษาเส้นเลือดขอดทำได้อย่างไร

เส้นเลือดขอดมีวิธีการรักษาอยู่หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งแต่ละวิธีนั้นมีข้อบ่งชี้ตามลักษณะอาการที่เป็น รวมไปถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทำการรักษา ดังนี้

1.การรักษาแบบประคับประคอง (Conservative treatment) จะเน้นหนักไปทางการป้องกันและรักษาตามอาการมากกว่า เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กมาก หรือเป็นเส้นเลือดฝอยที่ขาขนาดเล็กๆ โดยการใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (Compression stocking), นอนยกปลายเท้าสูง เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น, ออกกำลังกาย ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวบริเวณน่อง, ลดน้ำหนัก ในรายที่น้ำหนักเกินมากจนเกินไป, หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ หรือนั่งห้อยเท้านานๆ หลีกเลี่ยงการนั่งไขว้ห้างและการเกิดอุบัติเหตุ

2.การรักษาแบบเฉพาะ (Specific treatment) คือ การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อให้เส้นเลือดตีบตัน (Sclerotherapy) สามารถรักษาได้ทั้ง เส้นเลือดขอดที่ขา (varicose vein) และ เส้นเลือดฝอยขดคล้ายเส้นใยแมงมุม (spider vein) โดยจะใช้รักษาอาการเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กมากๆ ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือเส้นเลือดขอดที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1-3 มิลลิเมตร เป็นเส้นเลือดขอดเดี่ยว ๆ หรือบริเวณใต้เข่า
สารที่นิยมใช้มีหลายชนิด เช่น Aethoxysklerol , NaCl , Foam ซึ่งที่ รพ.จุฬารัตน์ 3 ใช้ Cyanoacrylate Glue ในการรักษา โดยหลังการฉีดสารผู้ป่วยควรเดินต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีทันทีเพื่อช่วยให้ยากระจายตัวได้ดีขึ้น และควรสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฉีดให้ได้ผลดี โดยควรสวมติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน (ยกเว้นในกรณีที่อาบน้ำให้ถอดออกได้)
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นการรักษาที่ไม่หายขาดในระยะยาว อาจมีการกลับมาเป็นซ้ำของเส้นเลือดขอดได้อีก หากแต่ข้อดีคือไม่ต้องนอน รพ. หลังการรักษาสามารถกลับบ้านได้ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึก
หมายเหตุ วิธีการรักษาเส้นเลือดขอดแบบเฉพาะนี้ไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้สารที่ใช้ฉีด มีเส้นเลือดอักเสบ และเส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่ร่วมกับปัญหาเส้นเลือดดำส่วนลึกได้

3.การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดดึงเอาเส้นเลือดที่ขอดออกไปทั้งเส้นเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก วิธีนี้จะเหมาะสำหรับการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่และมีขนาดยาวมากๆ หรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร มีอาการปวดขาและมีลิ้นในเส้นเลือดดำผิดปกติ มีเส้นเลือดขอดที่เกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออก มีแผลเรื้อรัง หรือมีการอักเสบของเส้นเลือดขอด ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดได้
การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเตรียมการผ่าตัด โดยวิสัญญีแพทย์จะใช้วิธีระงับอาการปวดในขณะทำการผ่าตัดโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังหรือให้ดมยาสลบ หลังการผ่าตัดในช่วง 3-4 วันแรกควรนอนพักให้มาก ยกเท้าให้สูง และใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือ มีเลือดออกจากการผ่าตัด, ระหว่างการผ่าตัดอาจจะมีการทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงเสียหาย (เช่น เส้นเลือดแดง เส้นประสาท), แผลผ่าตัดเกิดการอักเสบติดเชื้อ, มีจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง, เกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือดดำซึ่งพบได้ไม่บ่อย หรือเกิดแผลเป็นให้เห็นได้หลังการผ่าตัด

4.การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์ เป็นวิธีการรักษาที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ทำให้เกิดบาดแผลและไม่มีแผลเป็น สามารถรักษาเส้นเลือดขอดได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร และผู้ป่วยที่กลัวการฉีดยาหรือการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (เหมือนมียางมาดีดที่ผิวหนัง) จึงไม่ต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ ในรายที่ไม่สามารถทนกับอาการเจ็บได้อาจทายาก่อนการรักษาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยหลังการรักษาผิวหนังบริเวณที่ทำจะมีอาการบวมแดงเล็กน้อย ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 2-3 วัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดรอยช้ำหรือผิวหนังไหม้พองได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีผิวคล้ำ 

5.การรักษาด้วยเลเซอร์แบบพิเศษที่มีช่วงคลื่นต่ำ (Low level laser therapy) เป็นวิธีที่ช่วยบำบัดอาการเส้นเลือดขอดโดยการลดอาการบวมน้ำจากการคั่งของเส้นเลือดดำ ซึ่งข้อดีคือ ไม่ต้องฉีดยาชา ไม่ทำให้เกิดแผล ทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ สามารถรักษาได้ทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย แต่จะต้องใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดร่วมด้วยเหมือนการรักษาอื่นๆ

6.ยารับประทานบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด การรับประทานยาในกลุ่ม ไดออสมิน (Diosmin) และเฮสเพอริดิน (Hesperidin) จะทำหน้าที่ยับยั้งกระบวนการอักเสบให้ลดลง และทำให้ลิ้นในเส้นเลือดกลับมาเป็นปกติได้ โดยเฉพาะในเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กๆ ดังนั้น หากรักษาตั้งแต่ระยะแรกอาจช่วยให้หายได้

7.การรักษาเส้นเลือดขอดโดยใช้สารยึดติดทางการแพทย์ (Cyanoacrylate Glue) เป็นการรักษาโดยการใช้สารยึดติดทางการแพทย์เพื่อปิดหลอดเลือดดำที่มีปัญหา ก่อนการรักษาแพทย์จะทำการอัลตราซาวด์หลอดเลือดเพื่อระบุตำแหน่งเส้นเลือดที่มีความผิดปกติ ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ หลังการรักษาอาการเส้นเลือดขอดจะดีขึ้น ไม่ต้องพักฟื้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเส้นเลือดขอดจะหายไปภายใน 1 เดือน
(ล้อมกรอบ)

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเส้นเลือดขอด (Risk factors)

  • มีอายุมากกว่า 70 ปี โอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้นจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้นในหลอดเลือดดำคำ ซึ่งพบโรคนี้มากกว่า 70% ในของคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป
  • เพศหญิง มีโอกาสเกิดโรคสูงกว่าเพศชาย 3 เท่า เนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ส่งผลถึงการเพิ่มความดันในช่องท้อง และจากการมีภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ซึ่งฮอร์โมนเพศจะมีส่วนช่วยในการคงความยืดหยุ่นของผนังเส้นเลือด
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ซึ่งพบโรคนี้ได้สูงขึ้นประมาณ 2 เท่า และพบในคนตะวันตกมากกว่าคนเอเชีย ทั้งนี้อาจมีความสัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน
  • มีน้ำหนักตัวมาก เพราะโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินจะเพิ่มความดันในช่องท้องให้สูงขึ้น
  • อาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ หรือต้องยกของหนัก ๆ ทำให้เส้นเลือดมีเลือดคั่งมาก เช่น ทหาร ศัลยแพทย์ พยาบาลในห้องผ่าตัด ครู เป็นต้น
  • อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ในวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยทอง หรือแม้กระทั่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดก็อาจส่งผลให้เกิดเส้นเลือดขอดมากขึ้นได้
  • มีอาการท้องผูกเรื้อรัง
  • ขาดการออกกำลังกาย ขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือใช้ชีวิตที่สะดวกสบายจนเกินไป

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดโดยเฉพาะบริเวณสะโพก ผู้ป่วยที่มีประวัติขาบวมหรือมีเส้นเลือดดำที่ขาอุดตันมาก่อนในอดีต ล้วนมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนทั่วไป

ป้องกันเส้นเลือดขอด ไม่ให้บั่นทอนคุณภาพชีวิต 

  • หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน หากต้องนั่งนานให้ลุกขึ้นเดินทุก ๆ 30 นาที หรือยกเท้าให้สูงทุกครั้งที่มีโอกาส
  • หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานาน
  • ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักเพื่อไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น โดยฉพาะกางเกงที่ฟิต รัดบริเวณขาหนีบและเอว
  • ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดและเตรียมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด
  • ลดการรับประทานอาหารเค็มเพื่อป้องกันอาการบวม และรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่าเส้นเลือดขอดที่ขาไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป ไม่เพียงทำให้สูญเสียความมั่นใจ บั่นทอนคุณภาพชีวิตเท่านั้น แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจต้องทนทรมานกับอาการปวดและรักษาได้ยากขึ้น ดังนั้น หากพบภาวะเส้นเลือดขอดที่ขาส่งสัญญาณรุนแรง สร้างความเจ็บปวดและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว