ข้างหลังภาพ ช่วงนี้สหายร่วมรบ “นักร่างแผนที่สู้ศึก” หมอรังสีของเราถูกปรักปรำว่าคิดคดทรยศเหล่านักสู้ทำให้เกิดมะเร็งเสียเอง วันนี้จึงอยากมาขอเล่าให้ฟังเรื่องสหายร่วมรบ "นักร่างแผนที่สู้ศึก" ท่านนี้ของเรา นักสู้หลายท่านน่าจะร้องอ๋อแล้วว่าวันนี้ เราจะเล่ากันเรื่องอะไร ถ้าเรียกด้วยคำสวยๆ ก็คือเรื่องของ “รังสีวินิจฉัย” หรือเรียกภาษาง่ายๆ ว่าไปเอ็กซเรย์นั่นแหละ
เมื่อพูดถึงเรื่องรังสีวินิจฉัย นักสู้ของเราหลายคนก็จะงุนงงสับสนว่าเข้าเครื่องใหญ่ เครื่องเล็ก กินน้ำไม่กินน้ำ ฉีดยาไม่ฉีดยา CT scan MRI อะไรเยอะแยะไปหมด ด้วยเพราะในการรักษามะเร็งนั้นจะต้องเห็นให้ชัด รู้ให้แน่ จึงจะพิจารณาแนวทางการรักษาได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรที่อยู่ข้างในร่างกาย เราจึงต้องหวังพึ่งคุณหมอรังสีและนักรังสีช่วยให้เราสามารถเห็นทะลุทะลวงลงไปถึงเนื้อร้ายเหมือนแผนที่ล้วงลับกลศึก
หากอธิบายให้เข้าใจง่าย รังสีวินิจฉัย คือ การนำรังสีเอ็กซ์เข้ามาช่วยในการสร้างภาพอวัยวะเพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษา มีทั้งการเอ็กซเรย์ธรรมดาและเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หากแต่บางครั้งอาจใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (mri scan) หรือคลื่นเสียงความถี่สูงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รังสีเอ็กซ์ ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยโรคที่มีความซับซ้อน เกี่ยวพัน ยึดโยงกับอวัยวะต่างๆ เฉพาะส่วนได้หลากหลาย
หลักการของการตรวจด้วยรังสีวินิจฉัยนั้นก็เหมือนการถ่ายภาพ ลองนึกภาพตามปกติเวลาเราถ่ายภาพลงโซเชียลกันก็จะต้องเลือกมุมที่มีแสงสว่างเพียงพอเพื่อให้ได้ภาพที่สวยคมชัด เช่นเดียวกันกับรังสีวินิจฉัย ถ้าเราอยากเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในร่างกายเราได้อย่างชัดเจนก็จะต้องใช้รังสีที่มีอำนาจทะลุทะลวงมากกว่าแสงที่เราเห็นด้วยตาเปล่า รังสีวินิจฉัยถือเป็นตัวช่วยหนึ่ง
เครื่องมือที่ช่วยให้เราเห็นได้ชัดเจนขึ้น ได้แก่
1. การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งมากกว่าคลื่นความถี่ที่หูของคนเราสามารถได้ยิน เข้าไปที่อวัยวะภายในร่างกาย และสะท้อนออกมาที่ตัวรับให้เห็นภาพอวัยวะภายในได้ แต่มีข้อจำกัดคือ สามารถถูกบดบังโดยลมในลำไส้ได้ หรือหากคนไข้มีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วนมากก็จะทำให้เห็นไม่ชัดเจน
2. รังสี X (X-ray หรือ Röntgen ray) ถูกค้นพบตั้งแต่ ปี พ.ศ.2438 โดยจะฉายผ่านร่างกายออกมาเห็นเป็นภาพเงาสองมิติ และมีการดัดแปลงเพื่อให้ใช้ได้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การทำแมมโมแกรม (Mammogram) หรือ mri scan จะเอ็กซเรย์เฉพาะส่วนแค่ที่เต้านมเท่านั้น หรือมีการถ่ายภาพเป็นชุดๆ ต่อกัน เพื่อให้เห็นภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหาร (Fluoroscopy) ที่รู้จักกันในนาม กลืนแป้ง หรือสวนแป้ง นั่นเอง
ต่อมา รังสีวินิจฉัยมีการพัฒนาโดยให้มีการถ่ายภาพจากหลายๆ มุมรอบตัวเรา แล้วนำภาพมารวมกันเป็นเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CAT/CT scan (computed axial tomography) เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเป็น 3 มิติ ซึ่งถูกใช้มากที่สุดในการติดตามผลการรักษามะเร็งเพราะใช้เวลาไม่นาน แต่มีข้อเสียคือ ต้องสัมผัสกับรังสีจำนวนมาก
3. การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI (Magnetic resonance imaging) โดยใช้สนามแม่เหล็กส่งคลื่นเข้าไปในร่างกายให้สะท้อนออกมาที่เครื่อง แล้วแปลผลออกมาเป็นภาพ โดยอาจมีการฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือดเพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น มีข้อดีคือเห็นภาพชัดเจนและไม่ต้องสัมผัสรังสี แต่ข้อเสียคือมีเสียงดังรบกวน ใช้เวลาทำนานและในบางรายที่มีเหล็กอยู่ในร่างกายไม่สามารถทำได้
4. การตรวจด้วยนิวเคลียร์ ใช่แล้ว ฟังไม่ผิดแน่นอน หลักการเดียวกับระเบิดนิวเคลียร์ โดยจะใช้สารที่เรียกว่าสารเภสัชรังสีที่สร้างมาจากการปรับปรุงธาตุเดิม โดยออกแบบว่าจะให้ไปจับที่ส่วนใดของร่างกายแล้วใช้กล้องพิเศษถ่ายภาพที่รู้จักกันดี ได้แก่ การตรวจไทรอยด์ (Thyroid scan) หรือตรวจการลุกลามของมะเร็งไปที่กระดูก (Bone scan)
5. PET/CT scan เป็นการใช้การถ่ายภาพจากเครื่องมือทางนิวเคลียร์ คือ (Positron Emission Tomography) และเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography) ซึ่งเป็นเครื่องยอดฮิตในการตรวจติดตามมะเร็งในหลายๆ สถาบัน ย้ำว่า ‘ติดตาม’ ไม่ใช่ ‘คัดกรอง’ เพราะใช้การถ่ายภาพด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ให้เห็นรายละเอียดภายใน ร่วมกับการใช้ PET scan เพื่อตรวจการใช้น้ำตาล เพราะมะเร็งส่วนใหญ่โตไวกว่าร่างกายปกติ จึงใช้ปริมาณน้ำตาลเป็นพลังงานมากกว่าส่วนอื่นในร่างกาย เห็นเรืองแสงขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม มันคือเครื่องวัดการใช้น้ำตาล ไม่ใช่เครื่องตรวจจับมะเร็ง จึงอาจเห็นภาพเรืองแสงได้จากสาเหตุอื่นด้วย เช่น การอักเสบ การบาดเจ็บ การติดเชื้อ เป็นต้น
การจะใช้เครื่องมือใดในการวินิจฉัย ติดตามการรักษานั้น ขึ้นกับดุลพินิจของผู้เชี่ยวชาญ คือ “รังสีแพทย์” และ “แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์” ซึ่งมีความรู้ความชำนาญ ใช้เวลาหลายปีในการ “เรียนหนังสือ” เพื่อให้จบเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อีกทั้งตลอดชีวิตการทำงานยังต้อง “เรียนรู้” และสั่งสม “ประสบการณ์” เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อผู้ป่วย
อีกทั้งภาพที่ถ่ายออกมานั้นไม่ใช่ภาพสวยงามเหมือนที่ถ่ายลงโซเชียล แต่เราอยู่กับภาพของเงาที่จะต้องใช้ความสามารถอย่างสูงในการอ่านเงามัวๆ ให้ออกมาเป็นรายละเอียดให้กับกุนซือหมอมะเร็งอย่างเราอย่างถูกต้องแม่นยำ