ชวนเช็กสุขภาพหัวใจ ตรวจหัวใจมีแบบไหนบ้าง ?

article-ชวนเช็กสุขภาพหัวใจ ตรวจหัวใจมีแบบไหนบ้าง ?

วันพุธที่ 24 เมษายน 2567

นพ.ยุทธชัย มาตระกูล

5.00

หัวใจดวงเดียวที่เรามีควรได้รับการตรวจหัวใจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพร่างกายส่วนอื่นๆ เพื่อให้หัวใจยังฟิตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะไม่มีอาการใด ๆ บ่งชี้ว่าหัวใจกำลังเจ็บป่วย แต่อย่าลืมว่าอวัยวะที่ทำงานอย่างแข็งขันตลอด 24 ชม. และไม่มีวันได้หยุดพักก็ต้องการการดูแล เพราะทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรานั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจโดยตรง

บทบาทและการทำงานของ “หัวใจ”

ทุกส่วนของหัวใจทำงานสัมพันธ์กันได้อย่างลื่นไหลเป็นระบบ กล้ามเนื้อขนาดเพียงกำปั้นมือถูกแบ่งออกเป็น 4 ห้องหัวใจ ซึ่งประกอบไปด้วย เยื่อหุ้มหัวใจ,หลอดเลือดหัวใจ, กล้ามเนื้อหัวใจ, ลิ้นหัวใจ และผนังกั้นห้องหัวใจ ดังนั้นหากได้รับสัญญาณเตือนจากหัวใจอย่างอาการเจ็บแน่นหน้าอก, เหนื่อยง่าย, หายใจติดขัด จุกแน่นที่คอ ไม่ควรนิ่งนอนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีผู้คนไม่น้อยที่มีภาวะโรคเกี่ยวกับหัวใจแอบแฝงโดยไม่รู้ตัว แม้อาการจะดูไม่รุนแรงนักและหายได้เองก็ยังควรต้องเข้าพบแพทย์ตรวจหัวใจเพื่อหาที่มาของความเจ็บป่วย

การตรวจหัวใจ มีอะไรบ้าง

ตรวจโรคหัวใจ

ในขั้นตอนการตรวจหัวใจ แพทย์จะทำการสอบถามอาการและซักประวัติการเจ็บป่วยเบื้องต้น เพื่อเลือกแนวทางการตรวจวินิจฉัยให้เหมาะสมกับอาการของแต่ละบุคคล ซึ่งการตรวจหัวใจสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การตรวจหัวใจระดับพื้นฐาน (Non invasive Cardiac Testing) และ การตรวจหัวใจขั้นสูง (Invasive Cardiac Testing)

1.การตรวจหัวใจระดับพื้นฐาน (Non invasive Cardiac Testing)

เป็นการตรวจหัวใจโดยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจสัมผัสภายนอกร่างกาย ใช้เวลาตรวจไม่นาน ทราบผลไว ผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งศูนย์หัวใจโรงพยาบาลจุฬารัตน์ สามารถให้บริการด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัย ดังนี้

โรคหัวใจ (4) 

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography, EKG) เป็นการทดสอบสัญญาณไฟฟ้าและการเต้นของหัวใจ โดยติดตัวรับสัญญาณไว้ตามตำแหน่งต่างๆ บนร่างกาย เพื่อวินิจฉัยโรคและภาวะผิดปกติของหัวใจเบื้องต้น เช่น การเต้นของหัวใจผิดจังหวะภาวะหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ขนาดและผนังหัวใจผิดปกติ เป็นต้น
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test, EST) โดยการออกกำลังกายบนพื้นเลื่อน, สายพาน หรือถีบจักรยาน และเพิ่มความเร็วขึ้นตามมารตฐานของการทดสอบ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากอัตราชีพจร ระดับความดันโลหิต และการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น และไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะพบอาการข้างเคียงอย่าง แน่นหน้าอก และเกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่อาจเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบได้
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography, Echo) โดยอาศัยหลักการส่งคลื่นความถี่สูงที่มีความปลอดภัยต่อร่างกายเข้าไปยังบริเวณทรวงอก ผ่านอวัยวะต่างๆ ถึงหัวใจ และเกิดเป็นสัญญาณสะท้อนกลับ โดยระบบจะนำพาข้อมูลมาประมวลผลเป็นภาพ แสดงให้เห็นเป็นรูปร่าง ขนาด และการทำงานของหัวใจ ซึ่งสามารถวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ, ขนาดของห้องหัวใจ, การไหลเวียนเลือดในหัวใจ, การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจได้อย่างชัดเจน
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านหลอดอาหาร (Trans Esophageal Echocardiography, TEE) เป็นการตรวจหัวใจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ โดยใช้อุปกรณ์ใส่ผ่านช่องปากไปยังหลอดอาหาร เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ เช่น ผนังหัวใจรั่ว ลิ้นหัวรั่ว การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ เป็นต้น ซึ่งใช้ในกรณีที่การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจแบบปกติ (ทำผ่านผนังหน้าอก) แล้วได้ภาพไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถได้ข้อมูลมากพอในการวินิจฉัยโรค
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Dynamic Electrocardiography / DCG / Holter Monitor) เป็นการบันทึกสภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยติดเครื่องบันทึกไว้กับตัวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหาสาเหตุของอาการใจเต้นสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว อาการวูบ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม 
  • การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดง (Vascular Screening) เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของเส้นเลือดแดงตีบตัน อันมีสาเหตุมาจากไขมันและการแข็งตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในอนาคต
โรคหัวใจ

2. การตรวจหัวใจขั้นสูง (Invasive Cardiac Testing)

เป็นการสวนหัวใจ การฉีดสี หรือใช้เครื่องมือเพื่อการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาสภาวะหัวใจของผู้ป่วย ภายในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจที่ทันสมัยของ รพ.จุฬารัตน์ ได้แก่

  • การตรวจสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) และการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ

เป็นการตรวจลักษณะและสภาวะของหลอดเลือดหัวใจ โดยการสอดสายสวนขนาดเล็กไปตามหลอดเลือดแดง และใช้สารละลายทึบรังสีเอกซเรย์ฉีดเข้าเพื่อตรวจดูความผิดปกติภายใน หาจุดที่มีอาการตีบ แคบ หรือตันว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ การตายของกล้ามเนื้อหัวใจ และการวัดความดันในห้องหัวใจที่ตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุของอาการต่าง ๆ ของโรคหัวใจได้อย่างแม่นยำ

โรคหัวใจ
  • การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน และการดามด้วยขดลวด (Percutaneous Transluminal Coronary Angioplasty หรือ PTCA & Stent)

เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน โดยแพทย์จะทำการใส่สายสวนพิเศษชนิดบอลลูนโดยมีขดลวดนำไปตรงตำแหน่งที่ต้องการ และให้บอลลูนดันผนังของหลอดเลือดหัวใจบริเวณที่มีการตีบ (Coronary artery) ให้ขยายออก เพื่อเปิดทางให้เลือดและออกซิเจนไหลผ่านได้ดียิ่งขึ้นโดยไม่ต้องใช้วิธีผ่าตัดเปิดหน้าอกอีกต่อไป การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญ ภายในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือพิเศษโดยเฉพาะ และประสบการณ์ของแพทย์พร้อมทีมงานที่เชี่ยวชาญอย่างสูง

เพราะหัวใจผิดปกติได้จากหลายสาเหตุ แถมยังมีสถิติชี้ให้เห็นว่าคนอายุน้อยเสียชีวิตจากโรคอันเกี่ยวเนื่องกับหัวใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตรวจหัวใจจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะวัยสูงอายุเท่านั้น หากแต่คนวัยหนุ่มสาวเองก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี และทำได้โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ เพื่อป้องกันและรู้ทันความเสี่ยงโรคหัวใจของตนเองเช่นเดียวกัน

หากท่านมีคำถามเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายเข้ารับบริการ สามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทางด้านล่างนี้
โรงพยาบาลตั้งอยู่ที่ ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
02 033 2900 หรือสายด่วน 1609
FanPage : fb.com/chularat3
Line : @chularat3

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว