สตรีวัยทอง คืออะไร ?
สตรีวัยทองหรือสตรีวัยหมดประจำเดือน (Menopause) คือการที่มีการขาดหายไปของระดู เกิดขึ้นติดต่อกัน 12 เดือน ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้หญิงไทยจะเข้าสู่ภาวะหมดระดูอายุประมาณ 49.5 ปี โดยในหญิงวัยหมดระดูจะเกิดการเปลี่ยนแปลง จากการที่รังไข่นั้นมีการหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอร์โรน
โดยอาการวัยทองอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้
1. เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ความเสื่อมตามอายุ
2. เกิดจากอาการเจ็บป่วย เช่น การผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออกไป
3. เกิดจากการรักษาทางการแพทย์ เช่น การทำเคมีบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ในวัยภาวะหมดระดู ถ้าเกิดขึ้นเร็วพบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงโรคกระดูกพรุนได้
อาการของวัยทองมีอะไรบ้าง?
ปัญหาในระยะแรก
o อาการร้อนวูบวาบ (Hot flush) เป็นอาการทางร่างกายที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีวัยทอง มักมีอาการร้อนวูบวาบบริเวณลำตัวส่วนบน โดยเฉพาะบริเวณหน้า คอและอก แล้วกระจายไปส่วนล่างหรือส่วนบน มีส่วนน้อยจะกระจายไปทั่วร่างกาย อาการมักจะเป็นประมาณ 3-4
นาที นอกจากนั้นอาจมีอาการเหงื่อออก หนาวสั่น ลำตัวเย็นชื้น วิตกกังวล หรือรู้สึกใจสั่นได้ อาการเหล่านี้อาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลง โดยอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะคงอยู่ประมาณ 1-2 ปี หลังจากเข้าสู้วัยหมดระดู อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้อาจมีจนถึง 10 ปี หรือมากกว่านั้น ใน
หญิงบางรายเป็นปัญหาหลักที่ทำให้หญิงวัยหมดระดูมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
o ปัญหาทางช่องคลอดและระบบปัสสาวะ อาการที่พบได้เช่น อาการแห้งบริเวณปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด การมีสารคัดหลั่งผิดปกติ อาการคัน รวมถึงอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจพบการติดเชื้อในช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย เป็นปัญหาในระยะยาว
o โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) จะมีความแข็งแรงของกระดูกลดลงทำให้มีกระดูกหักง่าย หากเกิดขึ้นที่ตำแหน่งสำคัญ เช่น กระดูก สะโพก อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ โดยปกติฮอร์โมนเอสโตรเจนจะช่วยในการเสริมสร้างกระดูกและยับยั้งการทำลายของกระดูก ดังนั้นการขาดเอสโตรเจนจึงทำให้กระดูกพรุนได้ ซึ่งการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone mass density: BMD) จะช่วยในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน จึงทำให้แพทย์เริ่มการรักษาโรคกระดูกพรุนเพื่อป้องกันกระดูกหักที่จะเกิดขึ้นตามมาได้
o โรคหัวใจและหลอดเลือด
รักษาอาการวัยทองอย่างไร?
แบ่งการรักษาเป็นสองส่วนคือ
1)ดูแลสุขภาพของตนเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งได้แก่ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย อนามัยเจริญพันธุ์และอนามัยสิ่งแวดล้อม
2)ใช้ยารักษาแบ่งเป็นฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy) และยาที่ไม่ใช่กลุ่มฮอร์โมนทดแทน หากอาการวัยทองสร้างปัญหาต่อสุขภาพและจิตใจจนเกินควบคุมหรือสงสัยว่าเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาได้
หลักการของการให้ฮอร์โมนทดแทน คือการให้ในระดับปริมาณน้อยที่สุดที่จะสามารถบรรเทาอาการ เนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้ฮอร์โมนทดแทนนั้น ควรจะพิจารณาให้โดยเป็นบุคคลไป ทั้งข้อบ่งชี้ในการให้ การมีข้อห้ามในการให้โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้จากการได้รับฮอร์โมนทดแทน โดยการใช้ฮอร์โมนทดแทนต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์