FAQ เกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ รักษาได้ไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง ?

article-FAQ เกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ รักษาได้ไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง ?

วันพุธที่ 24 เมษายน 2567

นพ.อัฒฐพล วิระเทพสุภรณ์

5.00

มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer) แม้จะเป็นชนิดมะเร็งที่พบได้ไม่มากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่ก็ยังพบอุบัติการณ์ของโรคหรือ New case ได้ทุกปี อีกทั้งอาการของมะเร็งต่อมไทรอยด์ ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก ‘มะเร็งต่อมไทรอยด์’ พร้อมตอบคำถามเกี่ยวกับวิธีรักษาในบทความเดียว!

FAQ คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์

1. มะเร็งต่อมไทรอยด์เกิดจากอะไร ?

แม้ว่าปัจจุบันมะเร็งต่อมไทรอยด์จะยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ในทางการแพทย์ได้ระบุว่ามีปัจจัยที่เชื่อมโยงกับโรค คือ กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระดับเกลือแร่ไอโอดีนที่ได้รับจากอาหาร ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นภาวะโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary cell carcinoma

2. มะเร็งต่อมไทรอยด์มี 2 ประเภท ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ที่จับกับแร่รังสีไอโอดีน ประกอบด้วย มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary cell carcinoma และ Follicular Carcinoma
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ที่ไม่จับกับแร่รังสีไอโอดีน ประกอบด้วย มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Medullary cell carcinoma และ Anaplastic carcinoma

3. เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้วรักษาได้หรือไม่ ?

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นมะเร็งไทรอยด์ชนิด Papillary และ Follicular ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการให้สารรังสีไอโอดีน โดยมีรายงานการรอดชีวิตที่ 20 ปี สูงถึงประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ

4. มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary และ Follicular รักษาด้วยวิธีไหนได้อีกบ้าง ?

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary และ Follicular ยังสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ตามด้วยการรับประทานสารรังสีไอโอดีน และยาฮอร์โมนไทรอยด์ตามลำดับ ซึ่งยาฮอร์โมนไทรอยด์นั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต

5. รักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยวิธีรับประทานสารรังสีไอโอดีน ลำบากหรือไม่ ?

ไม่ลำบาก สารรังสีไอโอดีน หรือที่รู้จักกันในนาม "น้ำแร่รังสี" มีอยู่ 2 รูปแบบ คือรูปแบบที่เป็นของเหลวมีลักษณะใส ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส) และรูปแบบที่เป็นแคปซูล ซึ่งเป็นรูปแบบที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

6. รักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยการรับประทานสารรังสีไอโอดีน ต้องเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่ ?

  • กรณีที่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่รักษาด้วยการรับประทานสารรังสีไอโอดีนปริมาณสูง จำเป็นต้องเข้าพักในโรงพยาบาลเพื่อแยกตัวไม่ให้ผู้อื่นได้รับรังสีจากตัวท่าน โดยห้ามออกนอกห้องโดยไม่ได้รับอนุญาต 
  • ระยะเวลาเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล อาจอยู่ที่ประมาณ 3-7 วัน หรือจนกว่ารังสีจะถูกขับออกจากร่างกาย จนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อคนรอบข้าง โดยไม่อนุญาตให้ญาติเฝ้า แต่สามารถเข้าเยี่ยมได้ครั้งละไม่เกิน 15 นาที หรือตามเวลาที่กำหนดหน้าห้องพัก

7. ผลข้างเคียงที่พบได้หลังการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน ?

เนื่องจากเป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับเซลล์ของต่อมไทรอยด์ โดยสารรังสีไอโอดีนที่รับประทานจะเข้าไปจับต่อมไทรอยด์และเซลล์มะเร็ง จึงอาจพบผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น

  • อาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ โดยทั่วไปแล้วอาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
  • ต่อมน้ำลายอักเสบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมที่ต่อมน้ำลาย (พบประมาณ 10-30% ของผู้ป่วย) ทั้งนี้อาการขึ้นอยู่กับปริมาณของสารรังสีไอโอดีนที่ใช้รักษา ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดื่มน้ำมากๆ อมลูกอมรสเปรี้ยว หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง

8. เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ห้ามรับประทานอาหารชนิดใดบ้าง ?

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ไม่จำเป็นต้องงดเว้นอาหารใดเป็นพิเศษ ยกเว้นช่วง 2 สัปดาห์ก่อนรับประทานสารรังสีไอโอดีน และ 1 สัปดาห์หลังการรักษา ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะแจ้งให้งดรับประทานอาหารที่มีสารไอโอดีนสูง เพื่อให้ต่อมไทรอยด์และเซลล์มะเร็งไทรอยด์สามารถจับสารรังสีไอโอดีนได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งหากพ้นช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ

9. แนะนำอาหารที่มีสารไอโอดีนสูง

  • อาหารทะเลทุกชนิด เช่น สัตว์ และพืชทะเล ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก สาหร่ายทะเล เป็นต้น
  • เกลือเสริมไอโอดีน หรือ“เกลืออนามัย” สำหรับเกลือที่ได้จากทะเลที่ไม่ได้เติมสารไอโอดีนลงไปนั้นสามารถรับประทานได้ 
  • น้ำปลาเสริมไอโอดีน ไข่เสริมไอโอดีน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีการเสริมไอโอดีน และอาหารอื่นๆ ที่มีการเติมสารไอโอดีนลงไป โดยสามารถดูได้จากฉลากที่ระบุว่ามีการเติมสารไอโอดีน รวมถึงปริมาณไอโอดีนที่มีอยู่ในอาหาร

นอกจากนี้ มะเร็งต่อมไทรอยด์ยังเป็นโรคที่พบได้ทั้งในผู้ที่มีอายุน้อย (16 ปี) ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีอาการสังเกตคล้ายโรคคอพอก แต่ผู้ป่วยจะมีก้อนโตที่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก และมักพบเจอก้อนได้ที่บริเวณด้านข้างลำคอ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดเสี่ยงโรคมะเร็งไทรอยด์และความเจ็บป่วยอื่นๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ข้อมูลโดย: สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

FAQ เกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ รักษาได้ไหม

ขอขอบคุณบทความจาก
นายแพทย์อัฒฐพล วิระเทพสุภรณ์
สาขา: เวชศาสตร์นิวเคลียร์

หากท่านมีคำถามเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายเข้ารับบริการ สามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทางด้านล่างนี้
โรงพยาบาลตั้งอยู่ที่ ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
02 033 2900 หรือสายด่วน 1609
FanPage : fb.com/chularat3
Line : @chularat3

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว