แนะ! สั่งข้าวกล่องเลี้ยงเด็กควรเลี่ยงอาหารบูดง่าย ไม่ทิ้งไว้เกิน 4 ชม.

article-แนะ! สั่งข้าวกล่องเลี้ยงเด็กควรเลี่ยงอาหารบูดง่าย ไม่ทิ้งไว้เกิน 4 ชม.

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2567

5.00

          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข วอนครูผู้ปกครอง เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กต้องคำนึงถึงความสะอาด ปลอดภัย ห่วงกรณีทัศนศึกษานอกสถานที่และมีการสั่งข้าวกล่องจำนวนมาก อาจเสี่ยงบูดเสียง่าย แนะเมนูข้าวเหนียว หมูทอด ข้าวเหนียวไก่ทอดเป็นทางเลือก
          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลวันเด็กนอกจากจะมีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์แล้ว การจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ก็เป็นสิ่งที่หลาย ๆ โรงเรียนนิยมจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ศึกษาดูงานโลกภายนอก ซึ่งการทัศนศึกษาแต่ละครั้งจะมีเตรียมอาหารหรือข้าวกล่องสำหรับมื้อต่าง ๆ ระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะมื้อเช้าและมื้อกลางวัน สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือความสะอาด ปลอดภัยของอาหารกล่อง เพราะส่วนใหญ่จะมีการปรุงไว้ก่อนล่วงหน้า และหากเก็บไว้นาน ๆ อาหารที่บรรจุในกล่องอาจบูดเสียได้ ดังนั้น การสั่งอาหารกล่องจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้กะทิเป็นส่วนประกอบหลักหรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ให้เลือกเป็นอาหารที่ไม่บูดเสียง่ายแทน เช่น ข้าวเหนียวหมูทอด ข้าวเหนียวไก่ทอด และเพิ่มผลไม้ประเภทส้ม กล้วยน้ำว้า หรือชมพู่ด้วย นอกจากนี้การบรรจุอาหารในกล่องควรแยกกับข้าวใส่ถุงพลาสติกไว้ต่างหาก ไม่วางข้าวกล่องที่บรรจุเสร็จบนพื้นเพราะอาจทำให้ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ที่สำคัญบนกล่องอาหารควรแสดงวันเวลาที่ผลิตและระยะเวลาในการบริโภคเพื่อความปลอดภัย

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องมีการปรุงอาหารครั้งละมาก ๆ คือ ความสะอาดปลอดภัยของอาหาร โดยก่อนปรุงควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงให้สะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะผักต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ส่วนผักบางอย่าง เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลาย ๆ ครั้งหรือแช่น้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบ๊กกิ้งโซดา)ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารควรล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อนสัมผัส อาหาร หากมือมีแผลต้องปิดพลาสเตอร์และหลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารโดยตรง แยกมีดและเขียงระหว่างอาหารดิบและสุก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามระหว่างอาหารดิบกับอาหารปรุงสุก รวมทั้งระมัดระวังไม่นำสารเคมีอันตรายมาไว้บริเวณปรุงอาหารเด็ดขาด เพราะอาจปนลงในอาหารได้

          "ทั้งนี้ อาหารที่แจกเด็กควรปรุง สุกใหม่หรือทิ้งไว้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง หากมีกลิ่นผิดปกติหรือเหม็นบูด ควรทิ้ง ห้ามไม่ให้เด็กรับประทาน สำหรับน้ำดื่มควรสังเกตฉลากบนขวด เช่น วันหมดอายุ เครื่องหมาย อย. ก่อนและหลังกินอาหารควรล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง และทิ้งกล่องอาหารและเศษอาหารลงในถังขยะที่จัดไว้เท่านั้นอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

แหล่งข้อมูล : Hfocus

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว