โรคหัด (Measles) เป็นโรคติดต่อที่สามารถระบาดได้ในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ทั้งยังพบได้มากในเด็กเล็ก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยมีอาการเด่นๆ ให้สังเกตเห็นได้จาก จุดเทาขาวในปาก และผื่นสีน้ำตาลแดงไล่จากหัวและคอลงมาที่ตัว หรือในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น ภาวะปอดบวมและไข้สมองอักเสบ ดังนั้น การเข้าใจโรคหัดและหาแนวทางป้องกันตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เรามาติดตามไปด้วยกันที่บทความนี้
โรคหัดเกิดจากอะไร แพร่กระจายได้อย่างไร ?
โรคหัด หนึ่งในโรคที่มักพบในเด็ก แต่ก็ยังสามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน เป็นอาการไข้ออกผื่นที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Morbillivirus ที่มีชื่อว่า “Measles” ซึ่งเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ทำให้สามารถแพร่เชื้อไปสู่อีกคนได้จากการสูดอากาศที่มีละอองเชื้อไวรัสปนอยู่ หรือสัมผัสกับละอองเชื้อไวรัสบนพื้นผิวสิ่งของต่างๆ และนำมือเข้าปากหรือสัมผัสจมูก
ชวนสังเกตอาการของโรคหัด
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคหัดเป็นโรคที่สามารถติดต่อผ่านกันได้ การเฝ้าระวังและคอยสังเกตอาการอย่างระมัดระวังอยู่ตลอดจึงสำคัญ โดยเราสามารถสังเกตอาการของโรคได้หลังจากที่เชื้อทำการฟักตัวแล้ว ดังนี้
- มีอาการคล้ายหวัด เช่น คัดจมูก จาม และไอ
- รู้สึกปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล อาจไวต่อแสงเพิ่มขึ้น
- มีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส
- รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ
- รู้สึกไม่อยากอาหาร
- รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ระคายเคือง และหมดเรี่ยวแรง
- มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต โดยผู้ป่วยมักจะมีก้อนที่คอ หรือรักแร้
- เริ่มสังเกตเห็นจุดสีเทาขาวภายในกระพุ้งแก้ม
- มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย
ทั้งนี้ อาการผื่นจากโรคหัดจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีอาการไข้สูง ไอ จาม ประมาณ 2-4 วัน และหลังจากผู้ป่วยเริ่มมีผื่นขึ้นจะมีความรู้สึกไม่สบายตัว ครั่นเนื้อครั่นตัวมาก แต่หลังจากผื่นหายไปแล้ว ผู้ป่วยหลายรายจะพบว่ามีจุดสีเทาขาวเกิดขึ้นในช่องปาก
วิธีการรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคหัด
โดยทั่วไปเชื้อไวรัสโรคหัดจะใช้เวลาฟักตัว 8-12 วันก่อนจึงจะแสดงอาการตามมา ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจงแต่สามารถดูแลรักษาไปตามอาการได้ โดยแพทย์มักจะแนะนำให้พักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น เพื่อบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ ดังนี้
- รับประทานยาพาราเซตตามอลหรือไอบูโพรเฟน เพื่อลดไข้และอาการปวดกล้ามเนื้อ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ปิดม่านเพื่อลดภาวะอ่อนไหวต่อแสงอาทิตย์
- ใช้ผ้าขนนุ่มชื้นๆ ทำความสะอาดรอบตา
- ลาเรียนหรือลางานเป็นเวลาอย่างน้อย 4 วันหลังจากที่เริ่มมีผื่นขึ้น
- ในกรณีที่มีอาการป่วยรุนแรง โดยเฉพาะหากมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย ต้องพาผู้ป่วยไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที
โรคหัดใช้เวลากี่วันถึงจะหาย ? ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นวิธีรักษาโรคหัดส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาไปตามอาการ ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการแล้วจะใช้เวลา 10-14 วัน อาการไข้และผื่นจะค่อยๆ ลดลงและหายไปเอง แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของแต่ละคนอาจใช้เวลาแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายและการดูแลรักษา |
โรคหัดเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เราจึงควรดูแลและหาวิธีการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการป่วยอยู่เสมอ แพทย์จึงมักแนะนำให้ฉีดวัคซีนโรคหัดที่ช่วยป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่อาการรุนแรง ในเด็กเล็กจะเป็นวัคซีนที่กำหนดให้ฉีด 2 ครั้ง ส่วนในผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน