มะเร็งตับ! ส่องสาเหตุพาตับเสี่ยงมะเร็งแม้ไม่ใช่นักดื่ม!

article-มะเร็งตับ! ส่องสาเหตุพาตับเสี่ยงมะเร็งแม้ไม่ใช่นักดื่ม!

วันพุธที่ 3 เมษายน 2567

นพ.ชนภัทร วังกังวาน

5.00

หลายคนอาจเคยเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเส้นทางเดียวที่จะนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ  ทั้งที่จริง ‘มะเร็งตับ’ ไม่ใช่โรคของนักดื่มสายดริ๊งค์เพียงเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับได้อีก ทั้งไวรัส ไลฟ์สไตล์ อีกทั้งพบเป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง ที่น่ากลัวคือผู้ป่วยมักไม่พบอาการในระยะแรก แต่เซลล์มะเร็งดำเนินโรคอย่างรวดเร็วราวติดจรวด ทำให้แพทย์วินิจฉัยได้เมื่อมีอาการมากแล้ว ผลการรักษาจึงไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย แต่หากเฝ้าระวังและตรวจพบทันท่วงทีก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน

มะเร็งตับ เกิดจากอะไร

ตับมีหน้าที่หลักในการกำจัดสารพิษ ยา รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ และสร้างสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เมื่อเซลล์ตับมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้าย จะทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ตับและส่งผลให้เกิดเป็นโรคมะเร็งตับได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดมะเร็งตับ ดังนี้

  1. ไวรัสตับอักเสบ : ร้อยละ 75-80 ของผู้ป่วยมะเร็งตับเกิดในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี โดยผู้เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับสูงกว่าคนที่ไม่เป็นพาหะ 100-400 เท่า
  2. เป็นโรคตับแข็ง : เมื่อเกิดภาวะตับแข็งแล้วจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ 3 – 4 % ต่อปี
  3. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : ยิ่งดื่มมากความเสี่ยงยิ่งมากตาม หากดื่มแอลกอฮอล์กว่า 80 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็น 7.3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม และค่าความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจะไม่ลดลงแม้หยุดดื่มแล้วก็ตาม
  4. สารอัลฟลาท็อกซิน Aflatoxin : เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบใน ถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่เรารับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

มะเร็งตับ มีกี่ระยะ

ระยะการดำเนินโรคมะเร็งตับ แบ่งได้เป็น 5 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อมะเร็งเดี่ยวมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร หากตรวจพบในระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้
ระยะที่ 2 : ก้อนเนื้อมะเร็งขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร ไม่เกิน 3 ก้อน ยังคงเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ระยะที่ 3 : ก้อนเนื้อมะเร็งขนาดโตกว่ามะเร็งระยะที่ 2 มีจำนวนหลายก้อน
ระยะที่ 4 : ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ ข้างเคียงตับ ในระยะนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดระยะสุดท้าย : เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีสุขภาพทรุดโทรมและตับทำงานแย่ลงมากแล้ว

อาการของมะเร็งตับ

ในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่จะพบอาการเมื่อมีการลุกลามแล้ว ซึ่งอาการที่พบได้ คือ ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวม ขาบวม อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ทั้งนี้อาการของโรคมะเร็งตับมักไม่เฉพาะเจาะจงและมีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว สามารถรักษาได้โดยวิธีการผ่าตัด การรักษาผ่านผิวหนังด้วยคลื่นความร้อน การให้เคมีบำบัดเฉพาะที่ การรักษาด้วยยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง หรือยามุ่งเป้า

ตรวจมะเร็งตับ ลดความเสี่ยงได้

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับทำได้ด้วยการตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (alpha-fetoprotein) และการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูภาวะตับแข็งและคัดกรองมะเร็งตับได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อและเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีและซี, ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ, ได้รับสารอะฟลาทอกซินอย่างต่อเนื่อง, โรคทางพันธุกรรม, เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับ, ท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง, คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งตับ, ได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิดเป็นเวลานาน แนะนำให้ตรวจหาความผิดปกติทุก 6 เดือน เพื่อเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ

การรักษาโรคมะเร็งตับ

การรักษามะเร็งตับมีหลายวิธีโดยแพทย์จะพิจารณารักษาตามระยะของโรค ได้แก่ 

  • การผ่าตัดก้อนมะเร็งออก (surgery)

เป็นวิธีการรักษาที่หวังผลให้หายขาดได้มากที่สุด แต่มีข้อจำกัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะตับเเข็งที่มีการทำงานของตับแย่ลงมาก หรือกรณีที่ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่หรือมีหลายตำแหน่ง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับที่มาพบแพทย์ส่วนมากอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือไม่เหมาะที่จะทำการผ่าตัด

  • การรักษาผ่านผิวหนังด้วยคลื่นความร้อน (radiofrequency ablation or microwave ablation)

เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดไม่ใหญ่มาก (เล็กกว่า 5 ซม.) และจำนวนไม่มาก (1-3 ก้อน) เป็นวิธีรักษาที่ใช้ความร้อน (thermal ablation) ไปทำลายก้อนมะเร็งผ่านทางเข็มที่เจาะผ่านผิวหนังโดยตรง ซึ่งวิธีการรักษานี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย

  • การให้เคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านหลอดเลือดแดงเข้าสู่ตับ (TACE)

เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ก้อนมีขนาดใหญ่หรือหลายก้อน มีเลือดออกจากก้อนมะเร็งตับ ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูงหรือน่าจะเหลือพื้นที่ตับปกติน้อยเกินไปหลังจากผ่าตัด เป็นวิธีรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางหลอดเลือดแดงเข้าไปสู่ตับในบริเวณที่มีก้อนมะเร็งโดยตรง หลังจากนั้นจะทำการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งด้วยสารอุดหลอดเลือด มีผลทำให้ก้อนมะเร็งหดเล็กและฝ่อลงในที่สุด ซึ่งการรักษาวิธีนี้อาจจะต้องทำหลายครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลือหรือเกิดขึ้นใหม่เนื่องจากมีหลอดเลือดจากเนื้อเยื่อปกติรอบข้างเข้ามาเลี้ยงบริเวณที่มีก้อนมะเร็งเดิมอยู่

  • การรักษาด้วยยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)

เหมาะกับผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินว่าการทำงานของตับไม่ดีพอที่จะได้รับสารเคมีบำบัดและสารอุดหลอดเลือดของตับ ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดดำพอร์ทัลอุดตัน (main portal vein thrombosis) มีมะเร็งแพร่กระจายไปนอกตับ มีเนื้อมะเร็งมากกว่า 50% ของตับ 

รู้เท่าทันโรคมะเร็งตับ! ยกแก้วครั้งต่อไป ก่อนจะดื่มจะดริ๊งค์ คิดถึงตับที่ต้องทำงานหนักสักนิด หัวใจสำคัญในการเลี่ยงโรคมะเร็งตับคือการตรวจคัดกรองโรคในระยะเริ่มต้น ดังนั้นหากมีไลฟ์สไตล์ที่เสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับ หรือพบอาการผิดปกติในช่องท้อง และไม่แน่ใจว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ควรเข้าปรึกษาแพทย์โดยตรงและทำการคัดกรองเพื่อป้องกันโรค เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์การรักษาที่หายขาดได้นั่นเอง

สามารถอ่านบทความอื่นๆเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้ที่นี่

ติดต่อเพื่อพูดคุยกับเราเกี่ยวกับการรักษา
หากท่านมีคำถามเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายเข้ารับบริการ สามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทางด้านล่าง
โรงพยาบาลตั้งอยู่ที่ ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
Location / Map : https://goo.gl/maps/BYoLiFXbrJaiz2gH7

โทร.02 033 2900 ต่อ ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์
FanPage : fb.com/CHGCancerCenter
Line : @CHGCancerCenter Link : https://lin.ee/b0RJt7d

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว