สุขภาพกับการทำงานใน “พื้นที่อับอากาศ”
พื้นที่อับอากาศ (Confined Spaces) หมายถึง สถานที่ทำงานที่มีเนื้อที่จำกัด ทางเข้าออกแคบ มีการระบายความร้อนและอากาศไม่เพียงพอ อาจเป็นที่สะสมของสารเคมีเป็นพิษ สารไวไฟ มีออกซิเจนไม่เพียงพอ เช่น ถังน้ำมัน ถังหมัก ไซโล ท่อ ถัง ถ้ำ บ่อ อุโมงค์ เตา ห้องใต้ดิน แก๊สหรือไอที่เกิดขึ้นไม่สามารถระบายออกไปได้ อาจสูดดมเอาแก๊สพิษเข้าไปในร่างกาย รวมถึงอาจมีแก๊สที่ติดไฟได้ หากเกิดอันตรายเมื่อเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ยาก
ก่อนเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ
ต้องตรวจสุขภาพตามข้อกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2547 ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ตรวจแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงานประสิทธิภาพของการทำงาน และองค์กรด้วยโดยผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศจะต้องเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพทุกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรับใบอนุญาตเข้าปฏิบัติงาน
อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ
ข้อจำกัดในการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ ทั้งอากาศและความแคบของสถานที่ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน หากผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพดีจะช่วยลดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น ภาวะขาดออกซิเจน อุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน ไฟไหม้เนื่องจากแก๊สระเบิด (Combustible Gas) อันตรายจากการสูดฝุ่นละออง ดมแก๊สพิษ อุณหภูมิสูงหรือต่ำมาก ประสิทธิภาพของการได้ยิน การมองเห็นในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอต่อการหนีออกจากพื้นที่เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินได้ทัน
การตรวจสุขภาพสำหรับปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ
เริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นทั่วไป ตรวจคัดกรองโรคที่ควบคุมไม่ได้ หรืออาจกำเริบระหว่างปฏิบัติงาน โดยมากการตรวจร่างกาย มีดังนี้
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- ตรวจเอกซเรย์ปอด
- ตรวจสมรรถภาพปอด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- ตรวจสมรรถภาพการมองเห็น
- ตรวจสมรรถภาพการได้ยิน