รู้จักการผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น วิธีรักษาโรคเนื้องอกสมองและไขสันหลัง

article-รู้จักการผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น วิธีรักษาโรคเนื้องอกสมองและไขสันหลัง

วันอังคารที่ 23 เมษายน 2567

นพ.ธีร์ ธีระบุญญกิจ

5.00

การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น (Awake Craniotomy) คือ การที่คนไข้ยังคงสามารถพูดคุยหรือสื่อสารกับแพทย์ได้ในระหว่างการผ่าตัด โดยมักใช้กับคนไข้เนื้องอกในสมอง โดยที่คนไข้จะไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ ขณะทำการผ่าตัด และด้วยขั้นตอนการรักษาที่ค่อนข้างซับซ้อน การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่นจึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากศัลยแพทย์ระบบประสาทที่มีประสบการณ์สูง วิสัญญีแพทย์ระบบประสาท และทีมผ่าตัดเฉพาะด้าน

การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น

การผ่าตัดเนื้องอกในสมองขณะที่คนไข้ตื่น มีประโยชน์อย่างไร ?

การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น มักถูกใช้เมื่อพบว่าคนไข้มีเนื้องอกอยู่ใกล้บริเวณสมองที่ควบคุมการทํางานที่สําคัญ เช่น การพูด ภาษา หรือการเคลื่อนไหว ซึ่งแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะขณะที่คนไข้ตื่น เพื่อรักษาสมองส่วนที่ควบคุมการพูด หรือเคลื่อนไหวไม่ให้โดนทำลายหรือเสียหายถาวร โดยแพทย์จะทำการทดสอบด้วยการพูดคุยกับคนไข้ระหว่างผ่าตัด เช่น

  • รู้สึกเจ็บหรือชาหรือไม่ เพื่อทดสอบประสาทสัมผัส
  • ให้กลอกตาไปมา หรือขยับแขน-ขา เพื่อทดสอบการเคลื่อนไหว
  • ให้ลองนับเลขหรือตอบคำถามง่ายๆ เพื่อทดสอบการสื่อสาร 

นอกจากนี้ การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น ยังมีการใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อทําแผนที่การทํางานของสมอง เช่น ระบบนำวิถี Navigator system ในการระบุตำแหน่งเนื้องอกที่จะผ่าตัด หรือระบุตำแหน่งตามกายวิภาคของสมองอีกด้วย

เนื้องอกในสมองแบบไหน ? เหมาะกับการผ่าตัดกะโหลกศีรษะขณะที่คนไข้ตื่น

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเนื้องอกในสมอง แต่ใช่ว่าทุกชนิดของเนื้องอกจะลงเอยที่การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่นเสมอไป เพราะยังขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยว่าก้อนเนื้องอกนั้นเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือสามารถพัฒนาต่อไปเป็นเนื้อร้ายได้ ที่สำคัญคือตำแหน่งของเนื้องอก ซึ่งการผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น มักถูกใช้กับอาการเนื้องอกในสมอง ดังนี้

  • เนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง (Glioblastoma : GBM) ซึ่งเป็นเนื้องอกที่มีโอกาสแพร่กระจายได้เร็วและพัฒนาต่อไปเป็นมะเร็งด้วยได้
  • เนื้องอกที่แทรกในเนื้อสมอง (Astrocytoma) และมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งต่อได้
  • เนื้องอกในสมองหรือไขสันหลัง (Oligodendroglioma) อีกหนึ่งเนื้องอกที่มีโอกาสกลายไปเป็นมะเร็งชนิดรุนแรงได้ในอนาคต

โดยเนื้องอกในสมองเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นในสมองส่วนหน้าผาก, ขมับ,และสมองส่วนบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้ควบคุมการพูดการเคลื่อนไหว และความรู้สึกตามร่างกาย ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องเข้าใจและยินยอมตกลงก่อนที่จะรับการผ่าตัดในขณะที่คนไข้ตื่น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จนไม่สามารถให้ความร่วมมือในการตรวจทางระบบประสาทระหว่างการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีความเสี่ยงสูง จำเป็นจะต้องได้รับการประเมินจากทีมแพทย์อย่างละเอียดต่อไป

การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น

Q : รู้สึกตัวขณะผ่าตัด ทำไมไม่รู้สึกเจ็บปวด ?

A : เพราะเนื้อเยื่อสมองนั้นไม่มีเส้นใยความเจ็บปวด ดังนั้น ในขณะที่ได้รับการผ่าตัดเนื้อสมอง ผู้ป่วยจึงไม่รู้สึกเจ็บปวด นอกจากนี้ แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อบล็อคเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงหนังศีรษะและกะโหลกศีรษะในขณะที่ผ่าตัดส่วนนี้ร่วมด้วยนั่นเอง

Q : คนไข้ต้องทำอย่างไรระหว่างการผ่าตัด ?

A : ตลอดการผ่าตัดสมอง คนไข้จะสามารถสื่อสารกับทีมแพทย์ผ่าตัดได้ตามปกติ ซึ่งทีมแพทย์จะใช้เครื่องมือช่วยทดสอบการตอบสนองของสมองเป็นระยะๆ ตามตำแหน่งที่ต้องการจะทดสอบก่อนผ่าตัด โดยที่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย เช่น ถ้าจะทดสอบตำแหน่งที่มาเลี้ยงการขยับแขนขา แพทย์จะให้คนไข้ยกแขนหรือขาค้างไว้ เมื่อทดสอบโดนตำแหน่งของสมองที่มาเลี้ยงยังอวัยวะส่วนนี้ แขนขาคนไข้จะอ่อนแรงลงทันที ทำให้ศัลยแพทย์ทราบว่าต้องหลีกเลี่ยงตำแหน่งนี้นั่นเอง

การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น

การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น ต้องใช้เวลาผ่าตัดนานแค่ไหน ?

การผ่าตัดสมองในขณะที่คนไข้ตื่น อาจใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึงหลายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกนั้นมี ขนาด และตำแหน่งบริเวณไหน บวกกับสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยร่วมด้วย ในส่วนของความเสี่ยงของการผ่าตัดจะไม่แตกต่างจากการผ่าตัดแบบหลับ แต่จะสามารถป้องกันความเสียหายของสมองส่วนสำคัญได้แม่นยำกว่า

ทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 มีประสบการณ์การผ่าตัดผู้ป่วยเนื้องอกในสมองขนาดใหญ่แบบตื่นหลายราย เพื่อให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติให้มากที่สุด

 

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว