รู้ทันไขมันในเลือดสูง สัญญาณเตือนที่มาก่อนโรค

article-รู้ทันไขมันในเลือดสูง สัญญาณเตือนที่มาก่อนโรค

Friday 05 April 2024

Dr. Pakorn Methrujpanont

5.00

ไขมันในเลือดสูง (Hypercholesterolemia) หากอธิบายให้ตรงตัวก็คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ โดยอาจมีความผิดปกติทั้งไขมัน ‘คอเลสเตอรอล’ และ ‘ไตรกลีเซอไรด์’ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงานหรือวัยสูงอายุล้วนมีความเสี่ยงในระดับเทียบเท่ากัน ความน่ากลัวอยู่ตรงที่เมื่อมีไขมันในเลือดสูงจะไม่มีอาการใดๆ ให้สังเกตเห็น แต่หากไขมันในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตัน ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ (อัมพฤกษ์ อัมพาต) ได้

ไขมันในเลือดสูง เกิดจากอะไร

สาเหตุการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงมีดังนี้

  1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ส่งผลให้ร่างกายมีความบกพร่องในการเผาผลาญไขมัน
  2. โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน  ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ขาดฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
  3. ผลจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์
  4. การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ
  5. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

อาการไขมันในเลือดสูง สังเกตได้อย่างไร

อาจกล่าวได้ว่าภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบต่อสุขภาพ ดังที่กล่าวข้างต้นว่าผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงผิดปกติช่วงเริ่มต้นจะไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่บางกรณีโดยเฉพาะไขมันในเลือดที่สูงผิดปกติจากพันธุกรรม อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้

  1. ผนังหลอดเลือดแข็ง หัวใจต้องทํางานหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงทั่วร่างกายเพียงพอ เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักเป็นระยะเวลานานจะทําให้เกิดความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดหรือเป็นอัมพาตได้
  2. มีปื้นเหลืองที่ผิวหนัง เช่น หนังตา ข้อศอก หัวเข่าและฝ่ามือ
  3. เอ็นร้อยหวายหนาตัวกว่าปกติ
  4. มีเส้นวงสีขาวเกิดขึ้นระหว่างขอบตาดํากับตาขาว

วิธีรักษา ไขมันในเลือดสูง

จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า 2 ใน 5 ของสาเหตุการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงเกี่ยวเนื่องกับการรับประทานหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีวิธีการรักษาที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันดังนี้

  1. ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ฯลฯ
  2. การรับประทานยาลดไขมันในเลือด หากตรวจพบระดับไขมันที่เริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพแพทย์จะรักษาด้วยการให้รับประทานยาลดไขมันในเลือด โดยพิจารณาจากผลการตรวจไขมันในเลือดและปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย

ไขมันในเลือดสูงป้องกันได้อย่างไร?

  • ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ ไข่แดง ปลาหมึก
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน เช่น อาหารทอด เจียว ควรใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดดอก ทานตะวัน เป็นต้น
  • รับประทานอาหารพวกผักใบเขียวต่างๆ และผลไม้ที่ให้กากใยอาหาร
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นสัญญาณเตือนที่บอกกับเราว่าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเองให้เป็นมิตรกับสุขภาพ ดังคำกล่าวที่ว่า ‘สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง’ จึงควรหมั่นใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่โภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกัน รู้เท่าทันและลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

Better health

Related services

บทความที่เกี่ยวข้อง

This website uses cookies

We use cookies to enhance efficiency and provide a good experience on our website. You can manage your cookie preferences by clicking "Cookie Settings" in the privacy policy