การฝากครรภ์ คืออะไร?
การฝากครรภ์ คือ การดูแลการตั้งครรภ์ของสตรีและทารกในครรภ์ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งการให้ความรู้และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ โดยมีการนัดตรวจติดตามสุขภาตลอดระยะการตั้งครรภ์
ทำไมต้องฝากครรภ์?
จุดมุ่งหมายในการฝากครรภ์นั้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และทารกใน ครรภ์ยังคงมีสุขภาพดี แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์ หากมีปัญหาหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คุณแม่จะได้รีบปรึกษาคุณหมอและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
หญิงมีครรภ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนด้านโภชนาการ การใช้ยาต่างๆ เพศสัมพันธ์ การเตรียมตัวสำหรับการคลอด และการให้นมบุตร รวมทั้งการวางแผนครอบครัวหลังจากคลอดบุตรแล้ว นอกจากนั้นยังต้องรู้จักสังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์และอาการเจ็บครรภ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หญิงมีครรภ์จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาลเมื่อมาฝากครรภ์
การตรวจสุขภาพของมารดาและทารกเมื่อได้รับการฝากครรภ์
เมื่อหญิงมีครรภ์มาฝากครรภ์ แพทย์จะซักประวัติ แพทย์จะซักประวัติการขาดประจำเดือน โรคประจำตัวต่างๆ การตั้งครรภ์และการคลอดในอดีต ตลอดจนสภาวะของทารกในครรภ์ก่อนๆ ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น เพื่อวินิจฉัยว่ามีการตั้งครรภ์และค้นหาสภาวะที่ต้องระวังสำหรับการตั้งครรภ์ครั้งนี้
การตรวจทางห้องปฏิบัติการบางอย่างจำเป็นต้องทำเมื่อมีการตั้งครรภ์ เช่น
- การตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์และดูความผิดปกติของภาวะไตหรือครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia)
- การตรวจดูความเข้มข้นเลือด ดูภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่จะกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้
- การตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อดูอายุครรภ์ ดูความผิดปกติของทารก เช่น ความพิการต่างๆ การเต้นของหัวใจเพื่อประเมินว่าเด็กมีชีวิตหรือไม่
การเฝ้าติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์
3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มดลูกจะอยู่ในอุ้งเชิงกราน อายุครรภ์ครบ 5 เดือน ยอดมดลูกอยู่ที่ระดับสะดือ และอยู่เกือบถึงลิ้นปี่เมื่อครรภ์ครบกำหนด ส่วนน้ำหนักของแม่ใน 3 เดือนแรกจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะหญิงมีครรภ์มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและรับประทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้นน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม โดยตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักของแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัม ทั้งนี้เป็นส่วนของเด็ก รก และน้ำคร่ำประมาณ 5 กิโลกรัม เป็นส่วนของมดลูกและส่วนอื่นของแม่อีก 7 กิโลกรัม
สิ่งที่หญิงมีครรภ์ควรสังเกตและพึงระวัง!!!
- ก่อนใช้ยาทุกประเภท ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
- บุหรี่และแอลกอฮอล์ ทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อย
- ถ้าทารกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นต้องรีบไปพบแพทย์
- การบวมทั้งตัว มักแสดงถึงพยาธิสภาพของไตหรือภาวะครรภ์เป็นพิษ
- น้ำเดิน เกิดจากการที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตก ซึ่งควรจะมีลักษณะเป็นน้ำใสๆ ไม่ใช่มูก
- อาการเลือดออกเล็กน้อย โดยเฉพาะที่มีมูกปน
- ในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ บางคนจะมีอาการเจ็บครรภ์เพราะมดลูกรัดตัวแต่ไม่สม่ำเสมอ และอาการปวดมักจะอยู่บริเวณท้องน้อยหรือขาหนีบ อาการเจ็บครรภ์แบบนี้เรียกว่า “เจ็บเตือน” ซึ่งจะหายไปเมื่อได้หลับพักผ่อน แต่ถ้าอาการเจ็บเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบไปโรงพยาบาล