3 วิธีรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ พร้อมวิธีสังเกตอาการตัวเองเบื้องต้น

article-3 วิธีรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ พร้อมวิธีสังเกตอาการตัวเองเบื้องต้น

วันพุธที่ 24 เมษายน 2567

5.00

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของโรคคอพอก (Goiter) โรคที่มีจุดเริ่มต้นมาจากภาวะขาดสารอาหารไอโอดีน ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพและภาวะบางอย่างได้ เช่น การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติที่ส่งผลต่อระดับสติปัญญา (IQ), ต่อมไทรอยด์โต หรือใหญ่ผิดปกติที่อาจกลายเป็นโรคคอพอกได้ในที่สุด

เมื่อต่อมไทรอยด์โต อาจพัฒนาต่อไปเป็น ‘โรคคอพอก’

ต่อมไทรอยด์ คือ ต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอด้านหน้าต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วยปีกซ้ายและขวา คอยทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ต่อหลายอวัยวะ เช่น การทำงานของหัวใจและระบบประสาท พัฒนาการของสมองในวัยเด็ก รวมถึงระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เป็นต้น

โดยปกติต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่สำหรับผู้ที่มีไทรอยด์โตกว่าปกติ จนเกิดเป็นอาการของโรคคอพอก จนทำให้มีลักษณะคล้ายมีก้อนเนื้อมาพอกที่คอ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ คอพอกเป็นพิษ กับคอพอกไม่เป็นพิษ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเฉพาะ โรคคอพอกเป็นพิษ ที่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาก่อนสาย! 

อาการสังเกตโรคคอพอกเป็นพิษ

ข้อสังเกตของผู้ป่วยโรคคอพอกเป็นพิษ มักมีอาการหลัก ดังนี้

  • มีอาการใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็วและแรง 
  • เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก 
  • มืออุ่นและชื้น ขี้ร้อน 
  • กินจุแต่ผอม 
  • ชอบทำอะไรเร็วๆ 
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย วันละหลายครั้ง 
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • ในผู้ป่วยบางคนอาจพบว่ามีอาการตาโปนร่วมด้วย

3 วิธีช่วยรักษาโรคคอพอกเป็นพิษในปัจจุบัน

1. ใช้ยาต้านไทรอยด์ฮอร์โมน

ยาต้านไทรอยด์ฮอร์โมนที่ใช้บ่อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ เมธิมาโซล (Methimazole) และ โพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil, PTU) คอยทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ช่วยลดอาการต่างๆ ที่เกิดจากภาวะไทรอยด์โตผิดปกติ เช่น อาการเหนื่อยใจสั่น รวมถึงน้ำหนักตัว เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอยู่นานประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง จึงจะหยุดยาได้และอาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ

ข้อควรรู้ของการรักษาด้วยวิธีนี้ : ต้องใช้เวลานานกว่าจะหาย และอาจไม่หายขาด ในกรณีกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการรับประทานสารรังสีไอโอดีน หรือ ผ่าตัด เพื่อรักษาโรคให้หายขาด

2. รับประทานสารรังสีไอโอดีน (I-131)

สารรังสีไอโอดีน คือ สารไอโอดีนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยสามารถปล่อยรังสีได้ ซึ่งจะแตกต่างกับสารไอโอดีนในธรรมชาติที่ไม่ปล่อยรังสี โดยรังสีนี้สามารถใช้ถ่ายภาพและรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

เตรียมตัวก่อนรับประทานสารรังสีไอโอดีน

  1. หยุดยาต้านไทรอยด์อย่างน้อย 7 วันก่อนการรักษา
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเล เกลือป่น น้ำปลาที่มีไอโอดีนผสมอยู่อย่างน้อย 7 วันก่อนการรักษา
  3. งดวิตามินรวม ยาแก้ไอ หรือยาต่างๆ ที่มีไอโอดีนผสมอยู่อย่างน้อย 7-14 วันก่อนการรักษา
  4. สำหรับสตรีต้องแน่ใจว่าไม่ตั้งครรภ์ และไม่ได้อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • สำหรับผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเลหรือสารทึบรังสี สามารถใช้สารรังสีไอโอดีนได้ เนื่องจากอาการแพ้ดังกล่าว เกิดจากสารที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่ตัวไอโอดีนเอง โดยสารรังสีไอโอดีนสามารถให้ด้วยการรับประทานใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่เป็นน้ำและแคปซูล
  • หลังจากรับประทาน สารรังสีไอโอดีนจะไปสะสมอยู่ที่ต่อมไทรอยด์และปล่อยรังสีออกมา ทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงและหายจากอาการเป็นพิษ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก ง่าย และปลอดภัย สามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

ข้อควรรู้ของการรักษาด้วยวิธีนี้ : โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้น ต่อมไทรอยด์อาจมีขนาดเล็กลงประมาณ 1-2 เดือนหลังการรักษา

3. ผ่าตัดต่อมไทรอยด์

การรักษาคอพอกเป็นพิษด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ แพทย์จะทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไปบางส่วน วิธีนี้ทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงทันที 

ข้อควรรู้ของการรักษาด้วยวิธีนี้ : เนื่องจากมีผลข้างเคียงของการผ่าตัดเกิดขึ้นได้ ทำให้ในปัจจุบันการผ่าตัดจะใช้ในรายที่คอโตมากๆ หรือโรคคอพอกเป็นพิษนั้นไปกดหลอดอาหารและหลอดลม จนทำให้มีอาการกลืนหรือหายใจลำบากนั่นเอง

‘กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ออกกำลังกายให้มาก’ อาจเป็นคำน่าเบื่อที่เรามักได้ยินจากคุณหมอ แต่หากลองย้อนมองดูให้ดี ต้นเหตุของโรคหลายๆ อย่าง มักเป็นผลจากไลฟ์สไตล์สะสม เช่นเดียวกันกับโรคคอพอกเป็นพิษ ที่หากเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ ก็เท่ากับลดเสี่ยงการเกิดโรคได้ดีเช่นกัน 

ข้อมูลโดย : สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว