การฉายแสงคืออะไร
การฉายแสง คือการรักษาโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง (คลื่นรังสี) ปล่อยเข้าไปที่เนื้อเยื่อเป้าหมาย เพื่อหยุดการเติบโตและทำลายเนื้อเยื่อเป้าหมายดังกล่าว
การฉายแสง ใช้รักษาอะไร
การฉายแสงสามารถนำมารักษาได้ทั้งโรคมะเร็งชนิดต่างๆ และ ก้อนเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง
การฉายแสงในโรคมะเร็งมีบทบาทอย่างไร
การรักษามีหลากหลายบทบาทขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรคมะเร็ง ความแข็งแรง และความพร้อมของผู้ป่วย และแผนการรักษาจากทีมแพทย์สาขาต่างๆที่ร่วมดูแล โดยมีรูปแบบดังต่อไปนี้
- ใช้การฉายแสงเป็นการรักษาหลัก เพื่อหวังรักษาให้หายขาดจากโรคมะเร็ง ระหว่างการฉายแสงอาจมีการให้ยาเคมีบำบัด หรือยาอื่นๆเพื่อเพิ่มผลในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น
- ใช้เป็นการรักษาก่อนหน้าการผ่าตัด เพื่อหวังให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง หรือยุบหายไปก่อนการผ่าตัด ทำให้มีโอกาสผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกหมดได้มากขึ้น ในกรณีที่ต้องการผ่าตัดแบบเก็บอวัยวะเดิมไว้ จะมีโอกาสทำสำเร็จได้มากขึ้น
- ใช้เป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และเพิ่มโอกาสที่จะหายขาดจากโรคมะเร็ง
- ใช้เป็นการรักษาในกรณีที่ผ่าตัดไม่ได้ เพื่อหวังให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงเพื่อที่จะทำการผ่าตัดได้
- ใช้เป็นการรักษาประคับประคอง ในกรณีที่มีโรคแพร่กระจายไปหลายๆอวัยวะ การฉายแสงทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง กันไม่ให้มีการลุกลามมากขึ้น ใช้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งแพร่กระจายไปที่อวัยวะสำคัญเช่น ที่สมอง นอกจากนั้นยังสามารถหยุดหรือบรรเทาอาการผิดปกติต่างๆ จากก้อนมะเร็งได้ อาการผิดปกติเหล่านี้ ได้แก่ อาการปวด เลือดออก ก้อนกดทับเส้นประสาทหรืออวัยวะสำคัญ ก้อนมะเร็งที่เสี่ยงกระดูกหัก
การฉายแสง มีผลข้างเคียงอย่างไร
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเกิดจากคลื่นรังสีที่ให้เข้าไปที่ก้อนมะเร็ง มีบางส่วนไปกระทบกับอวัยวะปกติที่ อยู่รอบๆ ในระยะสั้น จะเกิดอาการอักเสบของอวัยวะที่โดนคลื่นรังสี โดยมักเกิดในช่วงที่รับการฉายแสง และในระยะยาวมักเกิดความเสื่อมของอวัยวะดังกล่าวตามมา ทั้งนี้ผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่รักษา เทคนิคการฉายรังสี และลักษณะโรคของผู้ป่วย
ขั้นตอนในการฉายแสง และ ระยะเวลาที่รักษา
ก่อนเริ่มฉายแสง ผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อกำหนดบริเวณรักษา และคำนวณ ปริมาณรังสี และเลือกเทคนิคการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการรักษา
ช่วงที่รักษา การฉายแสงทั่วไปจะกำหนดให้มารักษาห้าครั้งในหนึ่งสัปดาห์ และรักษาต่อเนื่องจนครบกำหนด ระยะเวลาที่ใช่รักษาทั้งหมดมักอยู่ในช่วง 1 ถึง 8 สัปดาห์