8 ตำแหน่งอาการ ปวดท้อง ปวดตรงไหนเสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง

article-8 ตำแหน่งอาการ ปวดท้อง ปวดตรงไหนเสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง

วันพุธที่ 24 เมษายน 2567

พญ.วรวรรณ บุญรักษา

5.00

หนึ่งในอาการธรรมดาสามัญที่พบได้บ่อยจนแทบจะเป็นเรื่องปกติของคนเรา คือ “อาการ ปวดท้อง” ซึ่งบ่อยครั้งมักหายได้เองหรือบรรเทาลงได้จากการรับประทานยาแก้ปวด หลายคนจึงคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่น่าจะมีอันตราย แต่รู้หรือไม่? จริงๆ แล้วอาการ ปวดท้อง และตำแหน่งที่ปวดอาจมีโรคภัยซ่อนอยู่มากมาย... มาดูกันว่าปวดท้องตำแหน่งไหนเกี่ยวกับอวัยวะส่วนใด เสี่ยงโรคอะไรบ้าง? 

8 ตำแหน่งอาการ ปวดท้องจุดไหนบอกอะไรบ้าง

1. ปวดท้องใต้ชายโครงขวา ปวดท้องข้างขวา เป็นจุดของตับและถุงน้ำดี หากกดแล้วเจอก้อนแข็งๆ ร่วมกับอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หมายถึงเกิดความบกพร่องที่ตับหรือถุงน้ำดี หากปวดมากแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด

2. ปวดท้องใต้ลิ้นปี่ หรือกลางตัว บริเวณซี่โครงซี่ล่างสุด (กลางตัว) หมายถึงกระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับและกระดูกลิ้นปี่ ซึ่งมีลักษณะอาการที่แตกต่างบ่งชี้โรคดังนี้

  • หากปวดเป็นประจำเวลาหิวหรืออิ่ม อาการปวดท้องที่เป็นนี้อาจเกี่ยวกับโรคกระเพาะ
  • หากปวดรุนแรงร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นอาการของตับอ่อนอักเสบ
  • หากมีอาการปวดท้องและคลำเจอก้อนเนื้อค่อนข้างแข็งและมีขนาดใหญ่ อาจเป็นอาการตับโต (ควรรีบปรึกษาแพทย์)
  • คลำได้ก้อนสามเหลี่ยมแบนเล็กๆ อาจเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกลิ้นปี่ ควรปรึกษาแพทย์

3. ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของม้าม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

4. ปวดบั้นเอวขวา (หรือซ้าย) โดยมากจะพบบ่อยในผู้หญิง หากมีอาการปวดท้องตำแหน่งนี้หมายถึงท่อไต ไต และลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีลักษณะอาการเฉพาะที่สามารถบ่งชี้โรคแตกต่างกันดังนี้ 

  • หากมีอาการปวดมาก หมายถึงลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • อาการปวดท้องที่มีอาการปวดร้าวไปถึงต้นขาร่วมด้วย คืออาการเริ่มต้นของนิ่วในท่อไต
  • ปวดท้องร่วมกับปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น บ่งชี้ว่าเป็นอาการของกรวยไตอักเสบ   
  • หากมีอาการปวดท้องและคลำเจอก้อนเนื้ออย่านิ่งนอนใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

5. ปวดท้องรอบสะดือ หรือปวดท้องบริเวณสะดือ เป็นตำแหน่งของลำไส้เล็ก มักพบในคนที่มีอาการท้องเดิน ซึ่งหากกดแล้วปวดมาก คืออาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ แต่ถ้าปวดแบบมีลมในท้องด้วยอาจเป็นแค่กระเพาะลำไส้ทำงานผิดปกติ

6. ปวดท้องน้อยด้านขวา เป็นตำแหน่งของไส้ติ่ง ท่อไตและปีกมดลูก โดยสามารถแยกลักษณะอาการ ปวดท้อง ร่วมกับอาการอื่นๆ และโรคที่เป็นได้ดังนี้

  • หากปวดเกร็งเป็นระยะๆ และรู้สึกปวดร้าวมาที่ต้นขา หมายถึงกรวยไตผิดปกติ 
  • หากมีอาการปวดเสียดตลอดเวลา กดแล้วเจ็บมาก แน่ชัดว่าเป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบ
  • หากมีอาการปวดท้องร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น มีตกขาว เหล่านี้เป็นอาการของปีกมดลูกอักเสบ
  • แต่หากมีอาการปวดท้อง คลำแล้วเจอก้อนเนื้อ เบื้องต้นอาจเป็นก้อนไส้ติ่งหรือรังไข่ผิดปกติ

7. ปวดท้องน้อย เป็นตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะและมดลูก หากปวดเวลาถ่ายปัสสาวะหรือถ่ายกะปริบกะปรอย เป็นอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แต่หากปวดเกร็งท้องน้อยเวลามีประจำเดือน เป็นอาการปวดปกติที่เกิดขึ้นได้หากอยู่ในช่วงที่กำลังมีประจำเดือน

8. ปวดท้องน้อยด้านซ้าย เป็นตำแหน่งของปีกมดลูกและท่อไต ซึ่งหากมีอาการร่วมต่อไปนี้สามารถบ่งชี้และแยกโรคที่แตกต่างกันได้ดังนี้

  • ปวดเกร็งเป็นระยะ เจ็บท้องน้อยด้านซ้ายและร้าวมาที่ต้นขา เป็นอาการของโรคนิ่วในท่อไต
  • ปวดท้องร่วมกับมีไข้ หนาวสั่นและมีตกขาว เป็นอาการของโรคมดลูกอักเสบ
  • หากมีอาการปวดท้องร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติ แน่ชัดว่าเป็นอาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • มีอาการปวดท้อง คลำพบก้อนร่วมกับมีอาการท้องผูกเป็นประจำ ไม่ควรชะล่าใจเพราะเป็นอาการของโรคเนื้องอกในลำไส้ 

จะเห็นได้ว่า อาการปวดในช่องท้องทั้ง 8 ตำแหน่งโรคที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบการทำงานของร่างกายทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อมีสัญญาณเตือนอย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะโรคในช่องท้องแต่ละโรคมีอาการแสดงถึงความผิดปกติ หรืออาการปวดท้องที่คล้ายคลึงกัน จนหลายครั้งอาจได้รับการวินิจฉัยผิดพลาด หรือผู้ป่วยนิ่งนอนใจคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะจนวินิจฉัยล่าช้าและส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้

 

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว