การตรวจเต้านมด้วยวิธี แมมโมแกรม ( Mammogram Ultrasound )

article-การตรวจเต้านมด้วยวิธี แมมโมแกรม ( Mammogram Ultrasound )

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2567

พญ.จีรนันท์ สัลเลขนันท์

5.00

การตรวจเต้านมด้วยวิธี แมมโมแกรม ( Mammogram Ultrasound )

แมมโมแกรม คืออะไร

        แมมโมแกรม คือ การถ่ายเอกซเรย์เต้านมทั้ง 2 ข้าง ตามปกติจะทำ 2 ท่า คือถ่ายเต้านมด้านตรง ( Craniocaudal view - CC ) และแนวเอียง ( MLO )

ทำไมต้องทำแมมโมแกรม

        ปัจจุบันนี้อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในประเทศไทยพบสูงขึ้นเรื่อยๆในกรุงเทพฯ มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิงแมมโมแกรมเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในการตรวจพบหินปูนในเต้านม ซึ่งหินปูนบางชนิดพบในมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ซึ่งไม่สามารถค้นพบจากการตรวจร่างกาย

ควรทำแมมโมแกรมบ่อยเพียงใด

         ผู้หญิงทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติควรรับการตรวจทุก 1-2 ปี

กลุ่มใดบ้างที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม

  • ผู้หญิงที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม (มารดา, พี่สาว, น้องสาว, บุตรสาว)
  • ผู้ที่เคยรับการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณหน้าอก
  • ผู้ที่รับยาฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้าง
  • ผู้ที่ได้รับการเจาะตรวจชิ้นเนื้อพบภาวะที่เรียกว่า Atypical ductal hyperplasia

กำลังมีประจำเดือนอยู่ ทำแมมโมแกรมได้หรือไม่

         พบว่าระยะของประจำเดือน ไม่มีผลต่อภาพที่ได้จากแมมโมแกรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ช่วงที่ใกล้มีประจำเดือนอยู่เต้านมจะมีการคัดตึงตามธรรมชาติ ทำให้เจ็บเวลากดเต้านมขณะทำแมมโมแกรม ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจ คือ 7-14 วันหลังมีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ท่านไม่ต้องกังวลถ้าวันนัดของท่านไม่ตรงกับช่วงเวลาดังกล่าว

ทำแมมโมแกรมเจ็บหรือไม่

        ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรมจำเป็นต้องมีการกดเต้านมโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อทำให้เนื้อเต้านมแผ่ออกไม่บังสิ่งผิดปกติถ้ามีนอกจากนี้ยังลดปริมาณรังสีที่เต้านมจะได้รับ แต่ท่านไม่ต้องกังวลว่าการตรวจจะเจ็บมาก

การตรวจอัลตราซาวด์

         การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกันเนื้อเยื่อต่างๆจะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจ ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ คล้ายกับการตรวจด้วยเรดาห์  ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้นอกจากนี้ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบในเนื้อเต้านมนั้นมีองค์ประกอบเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ในกรณีที่เป็นน้ำ ก็ค่อนข้างจะสบายใจเพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่หากเป็นก้อนเนื้อ  อัลตราซาวด์จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบเขตที่ดูเรียบร้อย หรือดูค่อนไปทางเนื้อร้าย

การตรวจแมมโมแกรม

          จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็กเพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่พบ แต่ประโยชน์นี้จะใช้ได้ดีในคนที่เริ่มสูงอายุ (มากกว่า 40 ปี) ซึ่งเต้านมไม่หนาแน่นมากการตรวจแมมโมแกรมจะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในคนที่อายุน้อยก็แปลผลแบบแมมโมแกรมยาก และในกรณีที่พบก้อน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือก้อนเนื้อ

            การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์มีข้อดีกันคนละอย่าง บางครั้งการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าแต่บางครั้งการตรวจทั้ง  2 อย่าง จะช่วยเสริมให้การวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น

Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว