โรคไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบ…ที่อาจพบโดยบังเอิญ

article-โรคไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบ…ที่อาจพบโดยบังเอิญ

วันอังคารที่ 9 เมษายน 2567

พญ.วรวรรณ บุญรักษา

5.00

โรคไวรัสตับอักเสบบี 

หลายครั้งที่ผู้ป่วยมาขอรับคำปรึกษาด้วยเรื่องผลตรวจสุขภาพพบไวรัสตับอักเสบบี ค่าตับผิดปกติ  หรือบริจาคโลหิตไม่ผ่านทั้งที่เป็นคนในวัยทำงานมีสุขภาพดีมาตลอด ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการแสดงใดๆ ทั้งนี้เป็นเพราะไวรัสตับอักเสบบี ในช่วงโรคสงบหรือการอักเสบไม่มากมักไม่กอให้เกิดอาการที่ชัดเจน  เราเคยเรียกกันในอดีตว่า “พาหะ” แต่อันที่จริงผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจมีโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ ดังนั้นน่าจะเรียกว่า “โรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง” มากกว่า

การติดต่อของไวรัสตับอักเสบบี

การติดจากแม่สู่ลูกขณะคลอด การติดต่อทางเพศสัมพันธ์  จากการรับเลือดในสมัยก่อน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน  การเจาะ การสัก การใช้ของมีคมร่วมกัน

อาการของผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี

ตับอักเสบบีเฉียบพลัน จะมีอาการอ่อนเพลียไข้ตำ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจจุกที่ลิ้นปี่หรือท้องด้านบนขวาร่วมด้วย โดยต่อมาจะมีตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม ระยะนี้ตับจะอักเสบมากแล้วจะค่อยๆดีขึ้นจนกลับเข้าสู่ปกติพร้อมๆกับยังตาเหลืองต่ออีกสักระยะหนึ่ง  ระยะนี้มีโอกาสหายจากโรคได้ด้วยตัวเอง แต่บางรายระยะนี้อาจมีภาวะตับอักเสบรุนแรง ตับทรุดลงรวดเร็ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ตับอักเสบบีเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ไม่สามารถหายได้เอง  ซึ่งผู้ป่วยตับอักเสบบีเรื้อรังที่ไม่ได้ตรวจติดตามรักษา มีโอกาสเสี่ยงโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

  1. ระยะสงบ จะติดตามผมเลือดเป็นระยะอย่างน้อยทุก 3-6 เดือน เพื่อเตรียมตัวรักษาเมื่อมีการอักเสบ โดยระยะที่ตับยังไม่อักเสบจะยังไม่มีการใช้ยาต้านไวรัส

  2. ระยะตับอักเสบ จะตรวจปริมาณไวรัสและรักษาโรคโดยการใช้ยาฉีดหรือยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน

  3. ระยะที่มีตับแข็งหรือระยะที่มีมะเร็งตับ จะพิจารณาใช้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน

  4. การรักษาในกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือผู้ป่วยที่เตรียมรับยาเคมีบำบัด จะมีการพิจารณารักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับทาน

 การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ตับเป็นระยะ ถ้ามียารับประทานตามแพทย์ระบุไม่ควรขาดยาเนื่องจากอาจดื้อยาได้
  • สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด อาจหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกถั่วและธัญพืชที่เก็บค้างนาน เนื่องจากอาจมีสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ
  • ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาชุด ยาลูกกลอนสมุนไพร ยาต้ม เนื่องจากอาจกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ไวรัสกำเริบและทำให้เกิดตับอักเสบจากตัวยานั้นๆเองได้

 การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี

  • กรณีที่บุคคลในบ้านเดียวกันเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกันได้ ไม่พบการติดต่อทางน้ำลาย
  • สิ่งของที่ไม่ควรใช้ร่วมกันกับผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี คือ มีดโกน ที่โกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ เนื่องจากอาจปนเปื้อนเลือดได้
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในรายที่ยังไม่เป็นโรค
Share:
social-media-iconsocial-media-iconsocial-media-icon

แพ็คเกจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว