ความดันโลหิต
ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนรับการตรวจสุขภาพ หากอดนอนจะทำให้ ผลการตรวจผิดปกติ โดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย (ค่าปกติของระดับความดันโลหิต คือ <=140/<=90 mmHg)
ประโยชน์ของการวัดความดันโลหิต
ภาวะความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการบ่งบอก ผู้ป่วยอาจไม่เคยรู้ตัวจนกระทั่งได้รับการตรวจ ความดันโลหิตเบื้องต้น การตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตาได้
การเตรียมความพร้อม
- การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองอาจต้องทำในที่เงียบ ๆ หากจำเป็นต้องฟังเสียงหัวใจด้วย
- ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน เพราะการปวดปัสสาวะอาจส่งผลต่อค่าระดับความดันโลหิต
- หากมีการสูบบุหรี่หรือการดื่มกาแฟและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนควรนั่งพักก่อนวัดความดันอย่างน้อย
30 นาที - พับแขนเสื้อขึ้น หากสวมเสื้อคลุมแขนยาวควรถอดออกก่อน
- นั่งพักบนเก้าอี้ก่อนวัดความดัน 5-10 นาที หลังพิงพนักเก้าอี้ วางฝ่ามือและแขนแนบกับโต๊ะ โดยไม่ต้องกำมือ และให้เท้าสองข้างวางราบกับพื้น
เจาะเลือด
การตรวจเลือด สำคัญและจำเป็นในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจเลือด เพื่อหาโรคติดต่อ เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคเบาหวาน เป็นต้น การตรวจเลือด ทำให้เราได้ป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะโรคแฝงที่ไม่ได้แสดงอาการในระยะแรก เราจึงควรได้รับการตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
เพราะการตรวจเลือดนั้นช่วยให้ทราบสาเหตุการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count หรือ CBC), การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS), การตรวจหาระดับไขมัน, การตรวจการทำงานของตับ และการตรวจการทำงานของไต ดังนี้
1. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count หรือ CBC)
ประโยชน์ของการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด
- ใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยภาวะโลหิตจางแบบต่าง ๆ
- ใช้ตรวจความผิดปกติหรือความบกพร่องใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปร่าง ขนาด และจำนวนของเซลล์เม็ดเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) การตรวจหา CBC ย่อมทำให้ทราบก่อนวิธีอื่น
- ใช้ตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือดในกรณีที่ได้รับสารกัมมันตรังสี
- ใช้ติดตามการรักษาในกรณีร่างกายได้รับยาเช่น เคมีบำบัด (chemotherapy)
- เพื่อสรุปว่าเซลล์เม็ดเลือดอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความปกติของร่างกายได้ส่วนหนึ่ง
2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar หรือ FBS)
การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังการงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (แต่ดื่มน้ำเปล่าได้) ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลบ่งชี้ปริมาณของกลูโคสในกระแสเลือด ณ ขณะนั้นอยู่ในระดับปกติ ต่ำกว่าปกติ หรือสูงกว่าปกติ การตรวจนี้จึงเป็นการตรวจที่ช่วยคัดกรองและวินิจฉัยผู้ที่มีอาการแสดงหรือมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ (ค่าปกติ = 70-110 mg/dl)
ประโยชน์ของการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- เพื่อใช้ในการคัดกรองและวินิจฉัยผู้ที่มีอาการแสดงหรือมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- เพื่อใช้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินผลการรักษา
- เพื่อตรวจป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไปในผู้ป่วยเบาหวาน
- การตรวจหาระดับไขมันในเลือด
การตรวจเพื่อให้ทราบค่าของระดับไขมันทุกตัวในกระแสเลือด เพราะการได้ทราบค่าระดับไขมันที่ผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งการตรวจจะประกอบไปด้วยการวัดค่าระดับไขมัน Total cholesterol, Triglycerides, HDL และ LDL
ประโยชน์ของการตรวจวัดไขมันชนิดต่าง ๆ
- Total cholesterol เพื่อให้ทราบว่าสารคล้ายไขมัน (คอเลสเตอรอล) ซึ่งไหลเวียนอยู่ในเลือดว่ามีบทบาทในการมีส่วนร่วมทำให้หลอดเลือดอุดตันทั้งที่หัวใจ สมอง และที่อื่น ๆ ของร่างกาย และมีค่าอยู่ในระดับต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ปกติหรือไม่ (ค่าปกติ = 140-220 mg/dl)
- Triglycerides เพื่อให้ทราบว่าไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นไขมันที่แท้จริงในกระแสเลือดนั้นมีค่าอยู่ในระดับใดโดยระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ปกติ ต้องลดน้ำหนักร่างกาย เลือกรับประทานอาหารไขมันดี และหลีกเลี่ยงไขมันเลว หรือต้องลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ (ค่าปกติ = <150 mg/dl)
- HDL เพื่อให้ทราบค่าคอเลสเตอรอลชนิดดีว่ามีค่ามากหรือน้อยเพียงใด (ค่าปกติ = >35 mg/dl)
- LDL เพื่อให้ทราบค่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีนั้นว่ามีค่ามากหรือน้อยเพียงใด (ค่าปกติ = <100 mg/dl)
4. การตรวจการทำงานของตับ
การตรวจทางเคมีคลินิกในเลือดภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานะของตับของผู้รับการตรวจ โดยการตรวจการทำงานของตับมาตรฐานมักจะประกอบไปด้วย การตรวจ Albumin, Total bilirubin, AST (SGOT), ALT (SGPT) และ ALP (Alkaline phosphatase) ดังนี้
- Albumin คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าโปรตีนในกระแสเลือดชนิดอัลบูมินว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่
ช่วยบ่งชี้ว่ามีโรคตับหรือโรคไตในร่างกาย (ค่าปกติ = 3.8-5.0 g/dl) - Total bilirubin คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าบิลิรูบินทั้งหมดมีค่าสูงหรือต่ำกว่าค่าปกติเพียงใด ซึ่งค่าที่ผิดปกติเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเกิดโรคของตับ รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ (ค่าปกติ = 0.5-1.5 mg/dl)
- AST (SGOT) คือ การตรวจสุขภาพของตับในขณะนั้น ตรวจยืนยันข้อสงสัยโรคตับ หรือตรวจเพื่อติดตามการรักษาหากเกิดโรคตับ หรือมีการรักษาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว (ค่าปกติ = 0-40 U/L)
- ALT (SGPT) คือ ตรวจในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เพื่อเฝ้าระวังความเสียหายที่เกิดขึ้น
ต่อตับ หรือการตรวจระดับโรคตับในขณะนั้น (ค่าปกติ = 0-40 U/L) - ALP (Alkaline phosphatase) คือ การตรวจช่วยให้ทราบภาวะความผิดปกติของตับและกระดูก
โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับท่อน้ำดี รวมทั้งเป็นสารบ่งชี้มะเร็งด้วย (ค่าปกติ = 40-129 U/L)
5. การตรวจการทำงานของไต
การตรวจดูสมรรถภาพการทำงานของไตได้จากการตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือดของไต จะประกอบไปด้วยการตรวจ BUN และ Creatinine ดังนี้
- BUN คือ การตรวจเมื่อแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคไต เพื่อดูการทำงานของไตหากเป็นอยู่ก่อนแล้วว่าไตฟื้นตัวได้ดีเพียงใด และตรวจสอบอาการขาดน้ำ (Dehydration) (ค่าปกติ = 5-20 mg/dl)
- Creatinine คือ การตรวจเพื่อเป็นข้อมูลในการบ่งชี้เบื้องต้นของอาการร้ายแรงที่เกิดขึ้นต่อไต และตรวจเพื่อให้ทราบถึงการทำหน้าที่ของไต หรือกลั่นกรองในผู้ป่วยที่ได้รับยาว่าไตเสียหายมากน้อยเพียงใด (ค่าปกติ = 0.5-1.5 mg/dl)
ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus หรือ HBV)
ไวรัสตับอักเสบบีเป็นไวรัสชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นไวรัสที่มีความรุนแรงมาก ซึ่งเป็นสาเหตุ
ที่นำไปสู่อาการตับแข็ง เกิดเป็นแผลถาวรที่ตับ กลายเป็นตับวายและโรคมะเร็งตับในที่สุด ไวรัสตับอักเสบบีเป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้ทางเลือด สารคัดหลั่ง การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์ และสามารถติดต่อ
จากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ ในบางกรณีเชื้ออาจจะอยู่นิ่งเป็นปีๆ โดยผู้ที่มีเชื้อไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้ออยู่ในร่างกาย เชื้อนี้สามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วในเซลล์ตับ ซึ่งหากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ได้รับการรักษาที่เร็วขึ้นและลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B surface Antigen หรือ HBsAg)
เป็นโปรตีนที่อยู่บนผิวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี HBV จะพบโปรตีนนี้ในปริมาณที่ค่อนสูงสูงในผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน หรือเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง การพบโปรตีนนี้จะบ่งบอกว่าผู้นั้นยังสามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้
การตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B surface antibody หรือ anti-HBs)
การตรวจพบภูมิต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ร่างกายสร้างภูมิต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งแสดงว่าร่างกายเริ่มจะหายจากโรคตับอักเสบ การพบภูมิต่อไวรัสตับอักเสบ บี ยังพบได้ในผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ EKG)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG หรือ (Electrocardiogram) คือการตรวจความสมบูรณ์ของการทำงานไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งการตรวจหัวใจแบบ EKG นั้นสามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อหัวใจได้ เช่น โรคหัวใจ เพราะมีผลกระทบ
ต่อการดำเนินชีวิตค่อนข้างมาก ดังนั้นการตรวจ EKG จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานของหัวใจยังปกติ อีกทั้งขั้นตอนของการตรวจยังสามารถทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และไม่จำเป็นต้องนั่งรอผลตรวจนาน
การตรวจปริมาณไขมันในร่างกาย (Body Fat)
การทราบปริมาณไขมันในร่างกาย จะช่วยให้ตั้งเป้าหมายในการควบคุมน้ำหนักได้ดียิ่งขึ้น ทั้งปัจจัยต่างๆ การควบคุมอาหาร กิจกรรมในแต่ละวัน และการจัดโปรแกรมออกกำลังกายให้เหมาะสม โดยปกติ ควรจะวัดเปอร์เซนต์ไขมันเป็นระยะๆ ความถี่ สัปดาห์ละครั้ง หรือ เดือนละครั้ง เพื่อติดตามผลความคืบหน้าในการออกกำลังกาย และจัดโปรแกรมการรับประทานอาหารให้ได้ปริมาณพลังงานและไขมันที่เหมาะสม